KEY
POINTS
หลังจาก #saveทับลาน ได้กลายเป็นกระแสร้อนในโลกออนไลน์ จากกรณีที่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็น กรณีการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจากการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ระหว่างวันที่ 28 มิ.ย.-12 ก.ค. 2567
อันสืบเนื่องจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 14 มี.ค.2566 เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขต ปี 2553 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี
รายการ “เข้าเรื่อง” เผยแพร่ทางช่องยูทูปฐานเศรษฐกิจ สนทนากับ นายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล โฆษกคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ขอเปิดแฟ้มรายละเอียด ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะคำถามที่ว่า อุทยานแห่งชาติทับลาน กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ใครเป็นฝ่ายทับซ้อนพื้นที่ใครกันแน่
โฆษก กมธ.ที่ดิน เปิดเผยข้อมูลพบว่าในอดีตตั้งแต่ที่มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทางรัฐไทยได้ประกาศให้ผู้ที่ร่วมต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ได้มีที่ดินทำกินหลังการต่อสู้แล้วเสร็จ ซึ่งเป็นการประกาศก่อนที่จะมีเขตอุทยานต่างๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้นชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกิน ก็ไม่ได้มีเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดิน เป็นแต่เพียงสัญญาที่รัฐไทยให้ไว้กับกลุ่มคนที่ได้อ้างว่าเป็นผู้ปกปักรักษาชาติไทย
ที่ดินที่จัดสรรให้โดยรัฐไทยขณะนั้น มีลักษณะเป็นป่าเขา ซึ่งเมื่อมีการประกาศเขตอุทยานในปี พ.ศ.2524 ก็ได้มีการประกาศทับกับพื้นที่ของชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ดินไปก่อนหน้า ปัญหาจากการประกาศเขตอุทยานต่างๆทั้งประเทศมักมีลักษณะเช่นเดียวกัน คือการประกาศทับกับพื้นที่ของชาวบ้านประชาชน ที่อยู่อาศัยทำกินมาก่อน
สาเหตุจากข้อจำกัดทางอุปกรณ์ เทคโนโลยี และกำลังคน จึงทำให้การประกาศเขตต่างๆมักอ้างอิงจากแผนที่ทางการทหาร ที่มีภูมิทัศน์เป็นภูเขาแล้วมาขีดเส้นการออกประกาศในพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ได้มีการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ว่ามีชาวบ้านอยู่หรือไม่ ซึ่งปัญหาลักษณะเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในอีกหลายๆหน่วยงานของรัฐ
จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ และกรรมาธิการที่จะต้องตรวจสอบว่า ในพื้นที่ 260,000 ไร่ เป็นพื้นที่ของราษฎรที่อยู่อาศัยจริงจำนวนกี่ไร่ เนื่องจากข้อมูลส่วนดังกล่าวมีความละเอียดซับซ้อนมาก บางพื้นที่อาจเป็นส.ป.ก.ไปแล้ว ในขณะที่บางพื้นที่ก็ต้องยอมรับว่าตกไปอยู่ในมือของนายทุนแล้วเช่นกัน
เพราะหากไม่ลงไปดูพื้นที่จริง และตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบคอบ กรณี #saveทับลานหากนำไปสู่การคืนพื้นที่ทั้งหมดให้กับอุทยาน หากมีปัญหาในเวลาต่อมาก็จะทำให้ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งในพื้นที่กว่า 2แสนไร่นี้ เท่าที่ทราบคือมีพื้นที่ที่เป็นชุมชนอยู่แล้วก็มี
นายฐิติกันต์ยืนยันถึงสภาพพื้นที่ป่า 260,000 ไร่ ว่าไม่ใช่เขตต้นน้ำหรือใจกลางอุทยาน แต่จะเป็นแนวเขตตามแนวขอบๆ ซึ่งบ้างก็มีกรณีพิพาทอยู่แล้ว หรือบางส่วนก็ได้มีการสำรวจไปบ้างแล้ว ซึ่งจำแนกประชากรออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ราษฎรมาก่อน หรือพื้นที่โครงการพัฒนาเพื่อเสริมความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ (โครงการ พมพ.) และโครงการจัดพื้นที่ทำกินให้ราษฎรผู้ยากไร้ในป่าเสื่อมโทรม
การประกาศกันเขตออกนี้ไม่ได้เข้าไปถึงป่าต้นน้ำ และแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เนื่องจากมีการประกาศแนวเขตแค่บริเวณขอบเท่านั้น ซึ่งพื้นที่อุทยานฯทับลานนี้ ยังมีความทับซ้อนกับส่วนราชการอื่นๆอีกด้วย ทั้ง สปก. และราชพัสดุ โดยคณะกมธ.ที่ดิน จะประชุมและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ เพื่อหาทางออกให้กับทุกฝ่าย เพราะอย่างไรก็ตาม กมธ.ที่ดินต้องปกปักรักษาป่า ในขณะเดียวกันก็ต้องรักษาสิทธิให้กับประชาชนที่มีสิทธิอยู่มาก่อนด้วยเช่นกัน
หลังจากที่มี one map ที่ชัดเจนอาจส่งผลให้คดีบางคดีต้องมีการนิรโทษกรรม เพราะบางคดีอาจเป็นการบุกรุกในพื้นที่ของตัวเอง เพราะการสู้คดีเรื่องที่ดินนั้นชาวบ้านเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ เนื่องจากการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิในอดีตของชาวบ้านเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะบางทีชาวบ้านอยู่ในป่า แต่ตัวอำเภออยู่ห่างไกลแสนไกล การเดินทางไปก็ยากลำบาก ดังนั้นคนที่อยู่ห่างไกล หรือต้องออกไปทำมาหากินในช่วงกลางวันที่เจ้าหน้าที่มาเดินรังวัดก็จะเสียสิทธิมาโดยตลอด
แต่ที่ผ่านมาคนกลุ่มนี้ไม่เคยเรียกร้องสิทธิ ก็ยังอยู่ทำมาหากินในพื้นที่ จนกระทั่งถูกดำเนินคดีจึงต้องมาช่วยเหลือเยียวยา หาทางแก้ไขปัญหา และป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งส่วนมากคดีจะเกิดขึ้นกับชาวบ้านมากกว่ากลุ่มนายทุน สาเหตุเพราะกลุ่มนายทุนที่มุ่งหมายมาครอบครองพื้นที่ มักจะมีการเตรียมการมาแล้วอย่างดี มีเอกสารหลักฐานต่างๆอย่างครบถ้วนสมบูรณ์
ความสำเร็จของโครงการ one map ในแต่ละพื้นที่นั่นก็คือ การตกลงร่วมกัน และเกิดการยอมรับร่วมกันในแนวเขตone map ซึ่งปัจจุบันพบว่าแต่ละหน่วยงานยังไม่ยอมรับว่าจะใช้แนวของใครเป็นหลัก โดยยึดหลักของข้อเท็จจริง และหาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้การกันแนวเขตเกิดปัญหากระทบน้อยที่สุด หรือไม่เกิดปัญหาเลย ใช้หลักการคือป่าที่อุดมสมบูรณ์ก็ต้องยังเป็นป่า ส่วนที่เป็นชุมชนไปแล้วก็ต้องกันเขตให้ ส่วนที่เป็นของนายทุนก็ต้องยึดคืน
สุดท้ายสิ่งที่โฆษก กมธ.ที่ดินอยากฝากไว้ก็คือการที่ข้อมูลจากทุกส่วนทุกฝ่าย ควรได้มีโอกาสชี้แจงข้อเท็จจริงในมุมของตนเองให้สื่อได้รับรู้ เพราะบางครั้งคนในพื้นที่ซึ่งไม่มีโอกาสเข้าถึงสื่อ หรือไม่มีปากมีเสียงขาดโอกาสในการสะท้อนมุมมอง ข้อเท็จจริงของคนในพื้นที่ออกมา ซึ่งกระแสของสังคมมักเกิดขึ้นตามข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งอาจยังไม่ครบถ้วนรอบด้าน จึงอยากขอให้ประชาชนพิจารณารับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน เพราะในเรื่องหนึ่งเรื่อง ย่อมมีทั้งผู้ได้ประโยชน์ และผู้เสียประโยชน์