ชาววังน้ำเขียวโอด กรมอุทยานฯยื้อแก้แนวเขตทับลาน ขอผู้ว่าฯถกอัยการชะลอคดี

24 พ.ค. 2567 | 07:37 น.

ชาวบ้านวังน้ำเขียวเดือดร้อนหนัก ถูกกรมอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีแล้วกว่า 352 คดี ยื่นคำร้องถึงพ่อเมืองโคราช ประสานอัยการชะลอการดำเนินคดีออกไป 6 เดือน หลังกรมอุทยานฯยื้อออก พ.ร.ฎ.แก้ไขแนวเขตให้เกิดผลบังคับในทางกฎหมาย

นับเป็นคดีร้อนที่ยืดเยื้อไม่จบ กรณีข้อพิพาทเกี่ยวกับที่ดินระหว่างชาวบ้านทับลานเขตรอยต่ออำเภอครบุรี-เสิงสาง และวังน้ำเขียว กับอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.)ตั้งอุทยานฯเมื่อปี 2524 ประกาศแนวเขตป่าต่างๆเข้าเป็นเขตอุทยานฯ ทับซ้อนกับที่ดินที่ประชาชนอยู่อาศัยทำกินมาแต่เดิม และมีการจับกุมดำเนินคดีประชาชนโดยอาศัยเส้นแนวเขตที่บกพร่องคลาดเคลื่อน 

แม้ต่อมาแนวทางแผนที่แบบบูรณาการ (One Map) ดำเนินการเสร็จสิ้น แต่ กรมอุทยานฯไม่ประกาศดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแนวเขตให้ถูกต้องตามสภาพความเป็นจริง โดยยึดถือแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี พ.ศ. 2543 และตราพระราชกฤษฎีกาให้เกิดผลบังคับในทางกฎหมาย ขณะชาวบ้านถูกดำเนินคดีไปแล้วกว่า 352 คดี 

นายภัคพล  เขียวสลับ  ตัวแทนและผู้ประสานงานราษฎรบ้านไทยสามัคคี อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก ถูกดำเนินคดีทั้งอาญา และแพ่ง ถ้าศาลตัดสินก็ต้องออกจากพื้นที่  แม้แต่วัดก็ต้องรื้อสิ่งปลูกสร้าง ถ้าแนวเขตชัดเจนและออกเป็นกฎหมายชาวบ้านก็สามารถอุทธรณ์และฎีกาได้ 

ชาววังน้ำเขียวโอด กรมอุทยานฯยื้อแก้แนวเขตทับลาน ขอผู้ว่าฯถกอัยการชะลอคดี

นายภัคพล  กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทางอุทยานฯจะลงพื้นที่ทำประชาคมติดประกาศตามขั้นตอนของกฎหมาย เพื่อให้ชาวบ้านทำความเข้าใจแนวเขตก่อน ซึ่งชาวบ้านไม่ติดใจเพราะเห็นด้วยกับแนวเขตอยู่แล้ว สิ่งที่คาดหวังคือขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาพบชาวบ้านและประสานกับทางอัยการให้ช่วยชะลอเรื่องคดีเพราะมีความคืบหน้ามากแล้ว One Map ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับหมดแล้ว เหลือเพียงกรมอุทยานฯ ที่ต้องแก้แผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา แต่กรมอุทยานฯไม่ดำเนินการ

โดยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567  ตนเองในฐานะตัวแทนผู้ถูกดำเนินคดี ได้ยื่นหนังสือถึงนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา  เพื่อขอให้แก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน กับชุมชนตำบลไทยสามัคคี และตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว โดยระบุข้อความว่า 

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.)ได้สรุปแนวทางการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างอุทยานแห่งชาติทับลาน กับชุมชนตำบลไทยสามัคคี และตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว ตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งเสนอขอมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว ให้กรมอุทยานแห่งชาติดำเนินการขอออกกฤษฎีกาแก้ไขแนวเขตให้เป็นไปตามกฎหมาย ให้เสร็จสิ้นภายใน  365วัน (ให้เสร็จภายใน 13 มีนาคม 2567)

ขณะนี้ได้เลยกำหนดเงื่อนเวลาดังกล่าวมาแล้ว แต่ทางกรมอุทยานฯ ยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าวแต่อย่างใด สร้างความเสียหายให้กับประชาชนอำเภอวังน้ำเขียวเป็นอย่างมาก  และส่งผลกระทบต่อสังคมชมชน  ดังนี้ 

งานพัฒนาชุมชนของหน่วยงานต่าง ๆ ไม่อาจดำเนินไปได้เนื่องจากติดเงื่อนไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนยังไม่สำเร็จเรียบร้อยเป็นกฎหมาย ซึ่งกรมอุทยานฯ เป็นหน่วยงานเดียวที่จะต้องรับผิดชอบดำเนินการ ทำให้ชุมชนขาดโอกาสที่ดี ยากลำบากในการดำรงชีวิต และประกอบอาชีพ  อาทิ 

1.งานพัฒนาโดยกรมการพัฒนาชุมชนเมื่อปี 2562 ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ กันพื้นที่ออกไป เข้ากฎหมายอุทยานใหม่ปี 2562  มาตรา64 ซึ่งรวมถึงบ้านสุขสมบูรณ์ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ

2. งานขยายถนนในตำบลไทยสามัคคี ซึ่งเป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวอำเภอวังน้ำเขียว มีถนนคับแคบ การจราจรคับคั่ง สำหรับงบประมาณปี 2569 ก็ถูกระงับโดยกรมอุทยานฯ ให้ทำประชาคมก่อน (ในสภา อบต.)  และ3. งานโครงการของกรมการท่องเที่ยว ที่ได้เลือกอำเภอวังน้ำเขียวเป็น 1 ใน 8 อำเภอทั่วประเทศไทยเข้าร่วมประกวดโครงการของ UN Tourism อาจถูกกระทบได้ ถ้าเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานฯ บางคนคัดค้าน 

นอกจากนั้น ราษฎรตำบลไทยสามัคคี และตำบลวังน้ำเขียว ที่ถูกอุทยานฯ แจ้งความดำเนินคดีกว่า 352 คดีนั้น เวลาได้ล่วงเลยมากว่า 10 ปี  ทำให้คดีต่าง ๆ ถูกเร่งรัด แต่เมื่อประชาชนนำเสนอความคืบหน้าของการแก้ปัญหาของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องต่อผู้พิพากษา ขอเลื่อนเวลาการอ่านคำพิพากษาออกไปก่อน เพื่อรอให้แนวเขต (เขตปรับปรุงปี 2543) ได้ถูกประกาศใช้เป็นกฎหมาย   ซึ่งผู้พิพากษาส่วนใหญ่ท่านก็ให้ความกรุณา แต่เนื่องจากการดำเนินการของกรมอุทยานฯ ไม่มีผลคืบหน้า ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลคนใหม่ ซึ่งย้ายมาเดือนเมษายนนี้ ได้ให้นโยบายต่อคณะฯ ว่าคดี สวอ. ของพวกเราจำเป็นต้องให้เดินต่อไปตามเงื่อนเวลาของกฎหมายแล้ว

หากเป็นไปตามแนวทางดังกล่าว ผู้ถูกดำเนินคดีจะเดือดร้อนมากทั้งโทษจำคุกและค่าปรับ ( 4 แสนถึง 2 ล้านบาท) ในฐานะตัวแทนของผู้ถูกดำเนินคดี ขอเรียกร้องผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้ช่วยประสานกับผู้พิพากษาหัวหน้าศาล, อัยการคุ้มครองสิทธิ ให้ช่วยหาทางชะลอการดำเนินการทางคดีออกไปอีกสักระยะเวลา 6 เดือน เพื่อรอการดำเนินการของฝ่ายนโยบาย   รวมทั้งเชิญผู้ว่าฯ ลงพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว เพื่อทราบข้อมูลข้อเท็จจริงในสถานที่จริงจากประชาชน และเป็นการให้กำลังใจต่อประชาชนอำเภอวังน้ำเขียวด้วย


หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3995 วันที่ 28–29 พฤษภาคม พ.ศ. 2567