วันนี้ (16 กันยายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อเตรียมจัดตั้งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ร่วมกับรองนายกฯ รัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
น.ส.แพทองธาร เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์น้ำท่วม โดยกระทรวงมหาดไทย แจ้งว่า จะพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วยการยกเว้นค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้าในรอบบิลเดือนกันยายน 2567 ส่วนในเดือนตุลาคม 2567 กำลังพิจารณาการลดค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ลงอีก 30%
“กระทรวงมหาดไทย ได้รายงานว่า จะยกเว้นค่าน้ำประปา และค่าไฟฟ้า ในเดือนกันยายน นี้ ส่วนเดือนตุลาคม จะลด 30% ซึ่งตั้งเอาไว้ถ้าน้ำท่วมยาวกว่านั้นก็เพิ่มเติมอีกขึ้น รวมทั้งการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับความเสียหาย โดยทางกองทัพ และอาชีวศึกษา จะระดมกำลังเต็มมาช่วยกัน” น.ส.แพทองธาร ระบุ
สำหรับการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น ที่ประชุมหารือว่า จะต้องทำอย่างรวดเร็ว โดยใน้กรอบการทำงานเดิมไปก่อน ส่วนกรอบการช่วยเหลือรอบใหม่อาจจะใช้เวลาอีกระยะ เพราะมีรายละเอียดหลายอย่างที่ต้องพิจารณา
ทั้งนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
พร้อมทั้งให้ 3 รองนายกฯ เป็นรองประธาน คือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และนายประเสริฐ จันทรรวงทอง พร้อมกับหัวหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 18 กันยายน 2567 นี้ เพื่อติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ รวมไปถึงเรื่องของการช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานสถานการณ์น้ำว่า หลายพื้นที่มีปริมาณน้ำกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในจังหวัดที่เจอน้ำท่วมไปแล้วก่อนหน้านี้ คาดว่าประมาณ 3 วันนี้ทุกอย่างน่าจะคลี่คลายลง และรัฐบาลได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้าไปพื้นฟู เพื่อให้กลับมาสู่สภาพเดิมได้เร็วที่สุด
ขณะเดียวกันที่ประชุมได้รับทราบว่าสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยได้รับแจ้งว่า จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านมาปริมาณเท่าใด ยืนยันว่า ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น แม่น้ำเจ้าพระยายังมีความสามารถในการรองรับปริมาณน้ำที่ไหลลงมามากพอ และไม่น่าจะเกิดน้ำท่วมได้
อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุม ได้มีการสรุปข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ดังนี้