จากหลายพื้นที่ของประเทศไทยประสบภาวะฝนตกหนัก และฝนตกสะสม ทำให้เกิดนํ้าท่วมฉับพลัน นํ้าป่าไหลหลาก และดินโคลนสไลด์ สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สินและพืชผลของเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำชับให้กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจประสบภัยพิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัย จนถึงมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562
อย่างไรก็ดีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ได้มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 สำหรับเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับ คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท ล่าสุดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบ ข้อกำหนด หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรให้เกิดความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ล่าสุดทางกระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ได้ส่งข้อมูลไปให้กับกรมบัญชีกลางเรียบร้อยแล้วและอยู่ในระหว่างการพิจารณา เรื่อง ปรับอัตราการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับภาวะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน จากเดิมในส่วนของนาข้าวที่ได้รับการเยียวยาในครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ ในอัตราไร่ละ 1,340 บาท เพิ่มเป็นไร่ละ 2,236 บาท, พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ปรับใหม่ เป็นไร่ละ 3,180 บาท และไม้ผลไม้ยืนต้นไร่ละ 4,048 บาท เป็นไร่ละ 6,794 บาท เป็นต้น
สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือนั้น เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบันกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว ซึ่งหากเกษตรกรมีการประกันภัยนาข้าวด้วย จะได้รับความคุ้มครองสูงสุด 1,190 บาท/ไร่ ก็จะได้รับเงิน 2 เด้ง
“ในเรื่องการปรับเกณฑ์เงินชดเชยเยียวยาอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานต่างๆ ว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไร และจะปรับให้เป็นไปตามที่กระทรวงเกษตรฯ เสนอไปหรือไม่”
ด้านศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานผลกระทบนํ้าท่วมพื้นที่เกษตร ณ วันที่ 11 กันยายน 2567 ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 39 จังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก และเลย เป็นต้น เกษตรกร 133,804 ราย พื้นที่ได้รับผลกระทบ 871,063 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 748,460 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 91,612 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น และอื่น ๆ 30,991 ไร่ ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 25 จังหวัด อาทิ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย และสตูล เกษตรกร 11,375 ราย
ทั้งนี้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นนํ้าท่วมหรือภัยแล้ง หรืออื่นๆ หากผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว เกษตรกรต้องยื่นแบบขอรับการช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/อบต. หรือนายกเทศมนตรีตรวจสอบและรับรอง ตามสถานที่ที่กำหนด จะมีทางคณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบ และรับรองความเสียหายนำรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ไปติดประกาศตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,027 วันที่ 15 - 18 กันยายน พ.ศ. 2567