วันที่ 28 กันยายน 2567 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน (ข้อมูลล่าสุดเวลา 04.00น.)โดยระบุว่า บริเวณมหาสมุทรตะวันตก มีพายุอยู่ 2 ลูก
1. พายุดีเปรสชัน ทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะแรงขึ้น เนื่องจากยังอยู่ในทะเลที่อุ่น แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวจะไปทางเกาะไต้หวัน และโค้งกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น
2. อีกลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก (ห่างมาก)พายุโซนร้อน "เชบี (JEBI)" ทิศทางการเคลื่อนตัวยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยแต่อย่างใด
อัพเดตล่าสุดเมื่อเวลา 13.00 น.กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อน บ่ายวันนี้ (13.00น.) บริเวณมหาสมุทรตะวันตก
1. พายุดีเปรสชัน ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "กระท้อน (KRATHON)" แล้ว (กระท้อน (KRATHON) หมายถึงชื่อผลไม้ชนิดหนึ่ง ตั้งชื่อโดยประเทศไทย เป็นพายุลูกที่ 18 (RSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น)) ศูนย์กลางยังอยู่ทางด้านตะวันออกของเกาะลูซอล ประเทศฟิลิปปินส์ มีแนวโน้มจะแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นได้ เนื่องจากยังอยู่ในทะเลที่อุ่น แต่ทิศทางการเคลื่อนตัวจะไปทางเกาะไต้หวัน และโค้งกลับไปทางประเทศญี่ปุ่น
2.อีกลูกในมหาสมุทรแปซิฟิก (อยู่ห่างมาก)พายุโซนร้อน "เชบี (JEBI)"(พายุลูกที่ 17) ทิศทางการเคลื่อนตัวยังอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก
สำหรับพายุทั้ง 2 ลูก ไม่มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยและไม่มีผลกระทบแต่อย่างใด
อนึ่งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง อากาศแปรปรวนบริเวณประเทศไทยตอนบน มีผลกระทบในช่วงวันที่ 29 กันยายน – 3 ตุลาคม 2567
ในช่วงวันที่ 29 ก.ย. - 3 ต.ค. 67 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือด้านตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับร่องมรสุมจะพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก
ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีลักษณะอากาศแปรปรวน โดยมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง กับมีฝนตกหนักบางแห่ง และมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก หลังจากนั้นอากาศจะเย็นลง กับมีลมแรง และอุณหภูมิจะลดลง 1 – 3 องศาเซลเซียสในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง ฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสมซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมถึงดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศ ที่เปลี่ยนแปลงในระยะนี้ไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง