จากเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู จนเกิดเป็นโศกนาฎกรรมหนองบัวลำภู มีผู้เสียชีวิตกว่า 36 คน (ไม่รวมผู้ก่อเหตุ)และมีผู้ได้รับบาดเจ็บรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลหนองบัวลำภู 10 คน โดยเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเศร้าสะเทือนใจเป็นอย่างมาก ล่าสุด ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ ซึ่งเป็นนักวิชาการสื่อสารสุขภาพจิต และศาสนาปรัชญา และกรรมการบริหารสุขภาพจิตโรงพยาบาลสวนปรุง ได้โพสรูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า
“ โปรดร่วมกันช่วยเหลือทางใจผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสียที่จังหวัดหนองบัวลำภู ใครที่รู้จักกับพ่อแม่ผู้ปกครองและญาติของผู้ที่สูญเสียที่จังหวัดหนองบัวลำภูโปรดช่วยเหลือจิตใจกันด้วยการโทรศัพท์ไปหาหรือเข้าไปหา อยู่เป็นเพื่อนให้กำลังใจ ด้วยการใช้หลักการ 5 ข้อ(ดังภาพ) และคงต้องคัดกรองภาวะเครียดและซึมเศร้าและช่วยเหลือทั้งระยะสั้นและระยะยาวจนกว่าเขาจะปรับใจอยู่ได้ครับ”
สำหรับรูปภาพ 5 ระยะของปฏิกิริยาทางจิตของผู้ที่อยู่ในภาวะสูญเสีย มีดังนี้
ดร.วุฒิพงศ์ ถายะพิงค์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วิธีการเยียวยาดูแลจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิตที่จังหวัดหนองบัวลำภู สิ่งแรกคือ ต้องเข้าไปอยู่เป็นเพื่อน อย่าทำให้ผู้สูญเสียอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงา ต้องทำให้ผู้สูญเสียรู้สึกว่ายังมีคนอื่น ๆอยู่ในชีวิต เช่น พ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือเพื่อน
อันดับต่อมาคือ เปิดโอกาสให้ผู้สูญเสียได้ระบายความทุกข์ โดยวิธีการต่าง ๆ เช่น การร้องไห้ การบ่น ให้คนรอบข้างรับฟังด้วยท่าทีที่เป็นมิตร หากอยู่ใกล้ชิดสามารถใช้วิธีจับมือ ออบกอดผู้สูญเสียได้ โดยที่ยังไม่ต้องอธิบายเหตุผลใด ๆต่อผู้สูญเสีย หรือหากอยู่ไกลสามารถใช้วิธีโทรไปพูดคุยกับผู้สูญเสีย
ต่อมาให้ดูว่าผู้สูญเสียต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้างในเบื้องต้น เช่น การจัดเรื่องงานศพ เพื่อทำให้ผู้สูญเสียมีคนที่คอยช่วยเหลืออยู่ เมื่อผู้สูญเสียเริ่มที่จะทำใจได้แล้ว คนรอบข้างต้องชวนให้ผู้สูญเสียมองเห็นว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับเราแค่คนเดียว เกิดขึ้นกับหลาย ๆคนดังนั้นมีคนที่ร่วมทุกข์กับเราอยู่ หรือชวนให้ผู้สูญเสียให้เห็นถึงสิ่งดี ๆที่เหลืออยู่
ดร.วุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า อย่างไรก็ตามในแต่ละช่วงอาจจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ทำให้ระยะที่เริ่มทำใจได้หรือความเข้มแข็งทางจิตใจในแต่ละรายจะไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่น่าเป็นห่วงในมุมมองของผู้สูญเสียคือ ผู้ที่ปรับสภาพจิตใจได้ช้า เนื่องจากจะอยู่ความทุกข์นาน มีความเครียดสะสม มีความเศร้าฝั่งลึก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น จากเดิมที่เคยทำงานได้ดี กลายเป็นว่าความสามารถในการทำงานลดลง หรือไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
สำหรับคนสังคมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการที่จะช่วยให้ผู้สูญเสียมีกำลังใจขึ้นมาได้ โดยในปัจจุบันนี้การให้กำลังใจกันในโลกสังคมออนไลน์สามารถสื่อสารให้กำลังใจไปยังทั้งผู้ที่สูญเสีย และญาติของผู้ที่สูญเสียได้ แต่สิ่งที่ไม่ควรคือ การแชร์ภาพที่รุนแรง ภาพของเหยื่อ เพราะเป็นการซ้ำเติมผู้สูญเสีย
ขณะนี้ได้มีการส่งนักจิตวิทยาไปที่จังหวัดหนองบัวลำภูตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว ทั้งกรมสุขภาพจิต,กระทรวงสาธารณสุข,กรมพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อช่วยดูแลผู้สูญเสียที่มีความผิดหวังเสียใจจากเหตุการณ์เลวร้าย สิ่งที่ต้องป้องกันก็คือโรค PTSD ซึ่งเป็นโรคที่มีความเครียด มีความเศร้าจากเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต ซึ่งต้องดูแลทั้งระยะสั้นและระยะยาว
“สิ่งที่สำคัญในตอนนี้คือ ต้องนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาเป็นข้อคิดในการป้องกัน เชื่อความคนไทยทั้งประเทศมีความตระหนักจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงมีการยกระดับการป้องกันอยู่แล้ว อีกมุมหนึ่งคือ ประชาชนทุกคนต้องหันมามองคนใกล้ชิดของตนเอง ทั้งในครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน ว่ามีใครที่เสพสารเสพติด หรือมีปัญหาชีวิตต้องรีบเข้าไปช่วยเหลือ”