กรมอุตุฯคาดไทยเข้าสู่"ฤดูหนาว" 29 ต.ค.นี้ กรุงเทพฯอุณหภูมิต่ำสุด 17 องศาฯ

25 ต.ค. 2565 | 13:39 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ต.ค. 2565 | 20:51 น.

กรมอุตุฯ คาดไทยเข้าสู่"ฤดูหนาว"อย่างเป็นทางการ วันที่ 29 ต.ค. ไปจนถึงสิ้นสุดปลาย ก.พ. 66 อุณหภูมิต่ำสุด 8 องศาฯ กรุงเทพฯ ต่ำสุด 17 องศาฯ

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูหนาวปี 2565 ของประเทศไทย ว่าจะเริ่มในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนตุลาคม หรือ ประมาณวันที่ 29 ตุลาคมนี้ ช้ากว่าค่าปกติประมาณ 2 สัปดาห์ โดยฤดูหนาวปีนี้จะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566 

โดยจะหนาวเย็นกว่าปี 64 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทยตอนบน อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยสูงกว่าค่าปกติ ประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศา) ซึ่งฤดูหนาว ปี 64 อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21 องศาฯ โดยช่วงที่อากาศหนาวที่สุดคือ เดือนธันวาคม ถึงมกราคม ปีหน้า 

ทั้งนี้ อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยบริเวณประเทศไทยตอนบน 20-21 องศาเซลเซียส ซึ่งจะสูงกว่าค่าปกติประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส (ค่าปกติ 19.9 องศาเซลเซียส) และจะมีอากาศหนาวเย็นมากกว่าปีที่ผ่านมา (อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยปีที่ผ่านมา 21  องศาเซลเซียส)

 

สำหรับอุณหภูมิต่ำที่สุด 8-9 องศาเซลเซียส ส่วนมากจะอยู่ตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

ส่วนอุณหภูมิต่ำที่สุดบริเวณกรุงเทพมหานคร 17-19 องศาเซลเซียส และปริมณฑล 15-16 องศาเซลเซียส ช่วงเวลาที่จะมีอากาศหนาวเย็นที่สุด จะเริ่มตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2565 ถึงปลายเดือนมกราคม 2566 


อุณหภูมิต่ำสุด บนยอดดอย ยอดภูและเทือกเขา 8 องศาเซลเซียส 

 

ภาคใต้ จะมีอากาศเย็นบางแห่งในบางวันส่วนมากตอนบนของภาค แต่ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่ 

 

สำหรับคลื่นลมในทะเลอ่าวไทยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ในบางช่วงมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 1-2 เมตร

 

ทั้งยังได้แนะนำสำหรับข้อควรระวัง 3 ข้อดังนี้ 

 

1. ในช่วงปลายเดือนตุลาคม บริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนจะยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับจะมีน้ำเหนือไหลบ่าลงมา และในบางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำล้นตลิ่งได้ในบางพื้นที่

 

2.ในเดือนธันวาคมและมกราคม บริเวณยอดดอยและยอดภูมักจะเกิดน้ำค้างแข็งขึ้นได้ กับจะมีหมอกหนาเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุจากการใช้ยวดยานพาหนะไว้ด้วย

 

3.ในช่วงเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ อาจมีคลื่นกระแสลมตะวันตก เคลื่อนตัวจากประเทศเมียนมาผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งจะทำให้ช่วงดังกล่าวเกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกได้ในบางพื้นที่