วันนี้(วันที่ 10 พฤศจิกายน 2565) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรมทรัพยากรธรณี เรื่อง ให้ซากดึกดำบรรพ์เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 26 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 และข้อ 4 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์
เรื่องหลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน พ.ศ.2552 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยประกาศคณะกรรมการคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ เรื่องหลักเกณฑ์การประกาศเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนและเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2556
ประกาศให้ ซากดึกดำบรรพ์ของวาฬ บาลีนอพเทอรา อีดีไน (Balaenoptera edeni) หรือ วาฬบรูดา (Bryde’s whale) อายุโฮโลซีนตอนปลาย 3,380 ± 30 ปี จำนวน 141 ตัวอย่าง เป็นซากดึกดำบรรพ์ที่ขึ้นทะเบียนตาม พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ซากดึกดำบรรพ์ของวาฬดังกล่าว พบเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 โดยนายจิตติ วัฒนสินธุ พบที่ บ้านคลองหลวง ต.อำแพง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร
เจ้าของคือ บริษัท ไบรท์ บลู วอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มอบให้กับกรมทรัพยากรธรณี เพื่อนำไปศึกษาวิจัย โดยเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติธรณีวิทยาเฉลิมพระเกียรติ จ.ปทุมธานี
สำหรับซากวาฬบรูดาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นซากดึกดำบรรพ์นี้ มีการพบครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 โดยทีมนักวิจัยจากกรมทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทีม ThaiWhales และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมวิจัยซากดึกดำบรรพ์วาฬความยาวเกือบ 12 เมตร โดยภายหลังได้นำซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าว ส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ พบว่ามีอายุมากถึง 3,380 ปี
ดร.สมหมาย เตชวาล อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยเมื่อปี 2564 ว่า ผลอายุของกระดูกวาฬอำแพงได้นำไปสู่หลักฐานที่บ่งชี้ว่าพื้นที่บริเวณ ต.อำแพง เป็นทะเลเมื่อประมาณ 3,380 ปีก่อน ซึ่งอธิบายถึงสภาพนิเวศวิทยาโบราณที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ได้แก่ ฉลาม กระเบน หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว และการลำดับชั้นตะกอนทะเลโบราณของที่ราบภาคกลางได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ซากวาฬบรูดาดังกล่าว ถือเป็นซากดึกดำบรรพ์แรกที่พบในไทย และเป็นซากดึกดำบรรพ์แรกที่ขึ้นทะเบียนและได้รับความคุ้มครองภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม คลิก