แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 2.6% แต่ก็ยังต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ซึ่งเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 4% ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยต้องเผชิญความท้าทายรอบด้านในปี 2568 นี
นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เอสเอ็มอีไทยกำลังเผชิญปัญหาจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ซับซ้อนและผันผวน อาทิ สงครามภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงจากประเทศมหาอำนาจ
“เศรษฐกิจนอกระบบประเทศไทย 49% หรือเกือบครึ่งของ GDP ประเทศที่ต้องปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายอย่างจริงจัง ขณะเดียวกันต้องผลักดันให้ความรู้และมีมาตรการจูงใจผู้ประกอบการนอกระบบเข้าสู่ระบบเพื่อเพิ่มฐานภาษีและการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากพิจารณา GDP เปรียบเทียบรายไตรมาสย้อนหลัง 7 ปี พบว่า GDP ไตรมาส 3 จะมีสัญญาณการขยายตัวสูงกว่าไตรมาส 4 ถึง 4 ปี ยกเว้นปี 2561 ปี 2563 และปี 2564 โดยเฉพาะ 2 ปี หลังล่าสุด”
ทั้งนี้สัดส่วน GDP เอสเอ็มอีของประเทศไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงรายล้อมที่ทำให้ไม่ขยับจาก 35% ของ GDP ทั้งประเทศไปสู่เป้าหมาย 40% ได้อย่างรวดเร็ว ซ้ำร้ายสัดส่วน GDP SME รายย่อยมีเพียง 3% ของ GDP ประเทศ แต่มีสัดส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายย่อยถึง 85% ซึ่งติดกับดักทั้งการเข้าถึงแหล่งทุนและมาตรฐาน การพัฒนาคุณภาพ เทคโนโลยี และนวัตกรรมสินค้าและบริการ การพัฒนาทักษะให้ผู้ประกอบการและแรงงานเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทักษะด้านดิจิทัล ทักษะด้านการเพิ่มผลิตภาพ ทักษะ ESG รวมทั้งการเข้าถึงตลาดทั้งออนไลน์และการเติบโตในต่างประเทศ
นอกจากนี้จากการสำรวจของ สสว.ในไตรมาส 3/2567 พบว่า เอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินในระบบเพียง 30% เท่านั้น มีข้อสังเกต คือ กลุ่มที่ไม่ได้รับการพิจารณาอีก 70% พบปัญหาคุณสมบัติไม่ผ่านถึง 55% ขาดหลักฐานด้านรายได้และการเงิน 20% ขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน 14% และประวัติการชำระคืนไม่ได้ 11%
“ภาครัฐต้องเร่งเข้ามาช่วยเหลือและสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ผ่านข้อเสนอแนะ ไม่ว่าจะเป็น สนับสนุนการปรับตัวสู่เศรษฐกิจสีเขียว ให้ความรู้และสนับสนุนทางการเงินแก่เอสเอ็มอี ช่วยเหลือเอสเอ็มอี ในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และเจรจาเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า เร่งสนับสนุนการพัฒนาทักษะของแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้ความสำคัญกับการพัฒนา เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงออกมาตรการเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจโดยรวม เพื่อให้ เอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างประเทศไทยและสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA) ซึ่งเป็น FTA ฉบับแรกของไทยกับประเทศในยุโรป จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอาหาร ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นจากมูลค่าการค้าปัจจุบันที่สูงถึง 10,293.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์และพัฒนาช่องทางการตลาดออนไลน์
ความตกลง FTA ไทย-EFTA นับเป็นก้าวสำคัญในการเปิดประตูสู่ตลาดยุโรป และสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการเกษตรและอาหาร อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจาก FTA รัฐบาลและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันในการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอมอีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ปี 2568 ถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเอสเอ็มอีไทย แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับการเติบโตและพัฒนา ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีต้องปรับตัวและมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกัน ภาครัฐและภาคเอกชนก็ต้องร่วมมือกันในการสนับสนุนและส่งเสริมเอสเอ็มอีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายแสงชัยกล่าว
หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568