ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA แม่ทัพใหญ่ของสตาร์ทอัพ กล่าวว่า ปี 2568 วงการสตาร์ทอัพไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ เมื่อ “พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ” ฉบับแรกของประเทศได้รับการบังคับใช้
เพื่อเป็นเสาหลักในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงระบบนิเวศธุรกิจสตาร์ทอัพให้สอดคล้องกับนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทย
พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นเสมือนคัมภีร์ของสตาร์ทอัพที่จะช่วยกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์และแผนในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพรวมถึงระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ
ดร.กริชผกา กล่าวต่อว่า ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่จะมาช่วยผลักดันผู้ประกอบการนวัตกรรมไทยให้ก้าวสู่ตลาดโลกและสร้างอีโคซิสเต็มส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยที่ครบวงจร รัฐบาลให้ความสำคัญกับสตาร์ทอัพมาก
เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยที่ครบวงจร พ.ร.บ.ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ กฤษฎีกาเป็นเจ้าภาพหลักและเชิญหลายๆ ภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียหรืออยู่ในระบบนิเวศเข้ามามีส่วนร่วม หัวใจของกฎหมายฉบับนี้คือเราจะมีการจัดทำฐานข้อมูลชัดเจนว่าใครเป็นสตาร์ทอัพ มีการรวมศูนย์เป็น One Stop Service สำหรับเรื่องของสิทธิประโยชน์ของสตาร์ทอัพ
มีการทำเรื่องของการสร้างแรงจูงใจต่างๆ หรือการที่ทำให้สตาร์ทอัพเติบโตได้ รวมถึงเป็นช่องทางต่างๆ ในการติดต่ออย่างเป็นทางการสำหรับทั้งในและต่างประเทศ นี่คือกฎหมายเฉพาะของสตาร์ทอัพเลย ซึ่งจะส่งผลให้มีการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือไม่เอื้อต่อการเติบโต
ขณะนี้ อยู่ระหว่างการร่างพรบ. เพื่อเสนอเข้าครม.ให้เห็นชอบ เพื่อส่งต่อเข้าสภา คาดว่ากลางปี 2568 พ.ร.บ.ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ น่าจะเรียบร้อย เรียกได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นคัมภีร์ของสตาร์ทอัพก็ว่าได้ ซึ่งขณะนี้เหล่าสตาร์ทอัพของไทยก็เฝ้าตั้งตารอกฎหมายฉบับนี้อยู่
สำหรับเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ ได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ และแผนในการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพรวมถึงระบบนิเวศของธุรกิจสตาร์ทอัพ ให้สอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์
และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ โดยกำหนดให้สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน) หรือ NIA ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการ ของคณะกรรมการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ และมีการกำหนดบทบาทให้ NIA เป็นศูนย์กลาง (one stop service) ที่จะคอยให้บริการแก่ธุรกิจสตาร์ทอัพในการติดต่อประสานงานและรับผิดชอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพ
รวมถึงเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสตาร์ทอัพ
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ NIA ต้องดำเนินการจัดทำระบบศูนย์ข้อมูลในเรื่องโครงการหรือมาตรการและแหล่งเงินทุนในการส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีโครงการหรือมาตรการส่งเสริมหรือสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพ
หรือจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลในเรื่องดังกล่าวระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพรายใดที่ต้องการเข้ามารับการส่งเสริมหรือสนับสนุนในสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะให้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็ต้องมีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกำหนดไว้
โดย NIA จะทำหน้าที่เป็นหน่วยรับและตรวจสอบการยื่นคำรับรองพร้อมด้วยหลักฐานของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ยื่นมายังสำนักงานฯ เพื่อจะได้รับการประกาศรายชื่อเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพที่ได้รับสิทธิและประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพนี้
โดยสิทธิประโยชน์ที่ธุรกิจสตาร์ทอัพจะได้รับจะแบ่งออกเป็น สิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับหุ้น สิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว สิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับทรัพย์สินและภาษี ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิและประโยชน์ตามมาตรการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เป็นต้น
ขณะเดียวกันยังได้ฉายภาพการส่งเสริมและผลักดันสตาร์ทอัพของไทยเพื่อให้เกิดความแข็งแกร่งเติบโตขึ้นกว่าปัจจุบันใน 2 มิติ คือ 1.มีเม็ดเงินมาจากนักลงทุนมาร่วมลงทุนและ 2.มีตลาด
ที่ผ่านมาผลงานการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดสตาร์ทอัพของไทยที่ NIA ทำมาตลอดมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ เราทำทั้งการกระตุ้นและบ่มเพาะให้เกิดสตาร์ทอัพใหม่ ให้ทุน ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ เป็นต้น
"แต่วันนี้การทำเท่านั้นมันไม่พอ เพราะการที่สตาร์ทอัพจะขยายการเติบโตของธุรกิจได้มันมี 2 มิติ คือ 1. มีเม็ดเงินมาจากนักลงทุนมาร่วมลงทุน กับ 2. มีตลาด ซึ่งการที่นักลงทุนจะสนใจมาร่วมลงทุนตัวสตาร์ทอัพเองก็ต้องมีตลาดที่ชัดเจน รู้ว่าจะขายใคร เห็นโอกาสอยู่ตรงไหน มีแผนธุรกิจที่ชัดเจน เงินถึงจะมา
ฉะนั้นในปี 2568 NIA จะมุ่งเน้นในเรื่องการตลาดหรือการส่งเสริมเรื่องเกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจให้กับบรรดาสตาร์ทอัพทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ"
โดยตลาดต่างประเทศ ในปี 2568 จะเป็นปีแรกที่ NIA จะมุ่งเรื่องนี้ให้หนัก โดยปรับทิศทาง เดิมเรามีกลไกการสนับสนุนสตาร์ทอัพไทย ด้วยแนวคิด Groom-Grant-Growth หรือพัฒนาขีดความสามารถด้านนวัตกรรมพร้อมยกระดับกลไกสนับสนุนทางการเงินและสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจและต่อยอดการลงทุน แต่วันนี้เราเพิ่มคำว่า Global ซึ่งก็คือการขยายการเติบโตไปยังตลาดต่างประเทศหรือระดับโลกเข้าไปด้วย
ในเอเชียเรามองไปที่ 3 ประเทศที่เราจะพาไป จุดที่1คือญี่ปุ่น เพราะตลาดญี่ปุ่นยังเป็นตลาดที่น่าสนใจอยู่ ทั้งด้านเทคโนโลยีและความร่วมมือของไทยกับญี่ปุ่นที่มีมายาวนาน จุดที่ 2 คือเกาหลี ที่มีเทคโนโลยีที่ไปไกลมากๆ และค่อนข้างจะเปิดรับความร่วมมือกับสตาร์ทอัพไทย
เพราะเราบอกว่าประเทศไทยเป็นฮับของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เค้าซื้อไอเดียนี้นะ เกาหลีมาเปิดศูนย์ความร่วมมือด้านนวัตกรรมกับไทยหลายแห่ง ดังนั้น ทั้งเรื่องท่องเที่ยว เรื่องนวัตกรรม เค้ามองคนไทยเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์
จุดที่ 3 คือ ฮ่องกง ซึ่งมีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ ส่วนยุโรป เรามองไปที่เยอรมัน เพราะมีเรื่องเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพและเทคโนโลยีพลังงานที่ดีมาก แล้วถ้าเราสามารถไปมีความร่วมมือได้ สตาร์ทอัพไทยที่มีนวัตกรรมที่เกี่ยวเรื่องเหล่านี้ก็จะไปเติบโตได้
อีกที่คือออสเตรีย เรามีความร่วมมือที่ดีมาก เรามีโควต้าส่งสตาร์ทอัพไปที่นั่นปีละ 1 เจ้า หรือฝั่งสแกนดิเนเวีย ปัจจุบันเรามีความร่วมมือกับสวีเดนและฟินแลนด์ เรามองในเรื่องของเทคโนโลยีสีเขียว เรื่องของผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เป็นเป้าหมายหลัก
ส่วนสหรัฐอเมริกา เป็นตลาดใหญ่จริงแต่การแข่งขันก็สูงมาก เพราะเค้ามีธุรกิจด้านเทคโนโลยีค่อนข้างเยอะมากซึ่งเราก็พยายามจะเข้าไป แต่เท่าที่เราสอบถามสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยสนใจไปอเมริกาเท่าไหร่
1.ทำกิจกรรม Accelerator Program หรือโครงการที่ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อเร่งอัตราการเติบโต และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาที่สั้น โดยดึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนั้นๆ เข้ามาร่วม เช่น ถ้าเรื่องเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ
เราก็จะมีโรงพยาบาลเครือ BDMS โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี และสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทยมาร่วม เพื่อที่จะทำให้กลุ่มเหล่านี้เห็นว่าผลงานสตาร์ทอัพสามารถเอาไปขยายผลใช้งานอย่างไรได้บ้าง หรือเรื่องของอาหาร ก็ดึงไทยยูเนี่ยน ไทยเบฟเวอเรจ LOTTE Fine Chemical เนสท์เล่ Deloitte มหาวิทยาลัยมหิดล เข้ามา
มิติที่ 2 คือ NIA จะทำแผนทั้งปีที่จะเปิดให้เห็นว่าตรงไหนบ้างที่เราจะพาผู้ประกอบไป ซึ่งจะเป็นแผนที่มีความชัดเจน รวมทั้งช่วยทำคลิปโปรโมทสินค้าหรือบริการของสตาร์ทอัพในรูปแบบที่คนทั่วไปดูและสามารถเข้าใจได้ง่าย และเผยแพร่ตามโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ NIA
ที่สำคัญ NIA จะจัดทำ Startup Scale up - Catalogue รวบรวม 30 สตาร์ทอัพ ที่พร้อมออกสู่ตลาดต่างประเทศ เพื่อส่งต่อให้กับเครือข่ายพันธมิตรในต่างประเทศ ให้รับรู้ถึงศักยภาพของสตาร์ทอัพไทยที่พร้อมเติบโต พร้อมกันนั้น เราจะเชื่อมโยงระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน
เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน เราจะมีกิจกรรม Startup Thailand Connext ซึ่งจะช่วยเสริมทั้งในเรื่องของการเชื่อมต่อ พื้นที่ในการหาที่ตั้งทำธุรกิจ สิทธิประโยชน์ สิ่งจูงใจ ซึ่งเรามีความร่วมมือในหลายหน่วยในหลายประเทศ ทั้งหมดนี้จะทำให้สตาร์ทอัพมีความมั่นใจมากขึ้น หรือหากเค้ายังไม่พร้อมไปเปิดบริษัทที่ต่างประเทศก็ไม่เป็นไร เราก็สามารถหาช่องทางให้ไปเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจได้
ดร.กริชผกา กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้ NIA มีข้อมูลของสตาร์ทอัพไทยมากที่สุดและในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นข้อมูลแพลตฟอร์มของประเทศ อยากฝากถึงสตาร์ทอัพไทยที่ต้องการพัฒนาตัวเองว่าให้มองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดและต้องไม่กลัวที่จะขยายการเติบโต
ในปีหน้า 2568 สำหรับสตาร์ทอัพที่กำลังอยู่ในช่วงขยายตลาดและมองหานักลงทุน สามารถเข้าร่วมโครงการของ Global Startup Hub ได้ เรามีโครงการและกิจกรรมที่เตรียมไว้สำหรับทุกรายสาขาอุตสาหกรรม เทคโนโลยี ทั้งกิจกรรมในประเทศและต่างประเทศ ติดตามได้ที่เพจ NIA และ Startup Thailand