นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ( รมว.ศธ.) กล่าวว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวมีนักศึกษาอาชีวศึกษา รวมกลุ่มก่อเหตุความรุนแรงขึ้นภายนอกสถานศึกษา ตามถนนและแหล่งมั่วสุมต่างๆ นั้น จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่พ้นสภาพนักศึกษาไปแล้ว และอยู่นอกระบบการศึกษา แต่แอบอ้างว่าเป็นนักศึกษา
เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตนจึงได้มอบหมายให้ว่าที่ ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดำเนินการแก้ปัญหาเร่งด่วน โดยยึดหลัก 3 ป คือป้องกัน ปลูกฝัง และปราบปราม เพื่อเร่งแก้ไขปัญหานักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทที่ต้นตอตรงจุด
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาทางสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) และวิทยาลัยในสังกัด ทุกแห่งได้ดำเนินการป้องกัน และปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ระเบียบ วินัยอย่างเข้มข้น เหตุความรุนแรงจึงไม่เกิดในวิทยาลัย แต่ไปเกิดเหตุระหว่างการเดินทางบนท้องถนน ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) จะเพิ่มมาตรการป้องกันและปรามปราบร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และศาลโดยตนได้สั่งการให้ สอศ.แจ้งให้วิทยาลัยในสังกัดทุกแห่ง สำรวจรายชื่อนักเรียน นักศึกษา ทำบัญชีกลุ่มเสี่ยง ที่เคยก่อเหตุ หรือ มีแนวโน้มที่จะก่อเหตุ หรือ มีพฤติกรรมรุนแรง
จากนั้นทุกสถานศึกษาจะส่งรายชื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามพฤติกรรม หากกระทำผิดให้ดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทันที รวมทั้งจะนำมาตรการทางกฎหมายมาบังคับใช้กับผู้ปกครองที่ปล่อยปละละเลยให้เด็กไปก่อเหตุดังกล่าวด้วย โดยจะต้องรับผิดชอบตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 30/2559 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษาอย่างจริงจัง เพราะที่ผ่านมากลุ่มเหล่านี้กระทำผิดซ้ำบ่อย
ทั้งนี้ หากสถานศึกษา พบว่า มีกลุ่มรุ่นพี่ หรือบุคคลภายนอกที่มีอิทธิพลมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเข้ามาชักจูงพาทำกิจกรรมหรือมีการปลูกฝังความคิดในทางที่ผิด หรือ พยายามเข้ามาก่อกวนชักนำรุ่นน้องไปในทางที่ผิด ให้สถานศึกษาส่งชื่อให้ตำรวจช่วยติดตามปรับทัศนคติ หรือดำเนินตามกฎหมายทันที
นางสาวตรีนุช กล่าวด้วยว่า ตนได้รับรายงานว่า ขณะนี้มีสื่อโซเชียล เช่น เว็บไซต์ เพจ และสื่อต่างๆ ได้ลงภาพ คลิป ข้อความที่เป็นการสื่อไปในทางท้าทาย ยุยง ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ตามสื่อซึ่งมีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก นั้น ทาง ศธ. และ สอศ.จะทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ขอให้กองบัญชาการ ตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ดำเนินการตรวจสอบ ปิดเพจ เว็บไซต์ สื่อต่างๆ เหล่านั้น และดำเนินการตามกฎหมายเช่นกัน
“ มาตรการเหล่านี้ถือว่าเป็นมาตรการที่จำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องนักเรียนนักศึกษาส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นคนดี มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และดิฉันก็ขอขอบคุณผู้ปกครองที่ไว้วางใจส่งบุตร หลานให้มาเรียนสายอาชีพ โดยจะช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยให้ทุกคนได้เรียนอย่างมีคุณภาพ และมีความสุข กระทรวงศึกษาธิการจะใช้มาตรการทุกรูปแบบเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรงอีกต่อไป” นางสาวตรีนุช กล่าว.