ข่าวดี สธ.จ่อขึ้นค่าตอบแทน-โอที เพิ่ม 8 วิชาชีพ ปรับฐาน พ.ต.ส. 20%

13 ธ.ค. 2565 | 12:35 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2565 | 19:37 น.

รองปลัด สธ. เผย ข่าวดี ที่ประชุม คกก.ค่าตอบแทนฯ เห็นชอบเพิ่มสายงานรับค่าตอบแทน/ค่าโอที/เวรบ่ายดึก พร้อมเสนอปรับฐานอัตราเงิน พ.ต.ส. 20% และเพิ่ม 8 วิชาชีพ

13 ธันวาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2565 โดยกล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับทราบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ในการปรับปรุงเพิ่มเติมรายชื่อสาขาวิชาชีพและรายชื่อสายงาน ที่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนในข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขฯ พ.ศ. 2565 รวมทั้งหมด 20 สายงาน ดังนี้ 

 

1.นักวิทยาศาสตร์มีการเพิ่ม 10 สายงาน

  • นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก
  • แพทย์แผนไทย
  • นักจิตวิทยาคลินิก
  • นักกิจกรรมบำบัด
  • นักกายอุปกรณ์ 
  • นักเวชศาสตร์การสื่อความหมาย
  • นักโภชนาการ
  • นักฟิสิกส์รังสี
  • นายสัตวแพทย์
  • นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์

 

2.นักวิชาการด้านสาธารณสุข เพิ่ม 4 สายงาน

  • นักสังคมสงเคราะห์
  • นักจิตวิทยา
  • นักวิชาการสิ่งแวดล้อม
  • นักวิชาการเกษตร

 

3.เจ้าพนักงานสาธารณสุข เพิ่ม 3 สายงาน

  • เจ้าพนักงานสาธารณสุข
  • เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน
  • พนักงานกู้ชีพ

 

4.เจ้าพนักงานเทคนิค เพิ่ม 3 สายงาน

  • ช่างกายอุปกรณ์
  • ช่างทันตกรรม
  • ช่างภาพการแพทย์

ส่วนรายชื่อสายงานที่มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนโอทีและเวรผลัดบ่าย/ดึก ตามหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 5 ในส่วนของตำแหน่งเจ้าหน้าที่พยาบาล ได้มีการขยายนิยามและเพิ่มสายงาน 4 สายงาน คือ 

1. พยาบาลวิชาชีพ นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ (วุฒิปริญญาตรี) 

2.พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานเวชกิจฉุกเฉิน เจ้าพนักงานสาธารณสุข (เวชกิจฉุกเฉิน) พนักงานกู้ชีพ EMT-I (วุฒิอนุปริญญา) 

3.ผู้ช่วยพยาบาล 

4.ผู้ช่วยเหลือคนไข้ พนักงานกู้ชีพ EMT-B

 

ทั้งนี้ จากการคาดการณ์สถานการณ์การเงินการคลังหลังการเพิ่มค่าตอบแทนฉบับ 5 โดยเมื่อปรับค่าตอบแทนโอที 8% และค่าเวรบ่าย/ดึก 50% และปรับเพิ่มวิชาชีพและสายงานดังกล่าวแล้ว มีค่าใช้จ่ายเพิ่มประมาณปีละ 3 พันล้านบาท หน่วยบริการโรงพยาบาลทุกระดับสามารถดำเนินการบริหารจัดการได้ และสอดคล้องกับสภาวะการเงินการคลังรายรับรายจ่ายในภาพรวม

กรณีโรงพยาบาลที่มีปริมาณงานมากและมีสถานการณ์เงินบำรุงรายรับดี สามารถปรับการเบิกจ่ายให้เพิ่มได้ตามความเหมาะสมของภาระงานและสถานการณ์การเงินการคลังโดยผู้บริหารหน่วยงานต้องติดตามผลรายรับรายจ่ายหลังเพิ่มค่าตอบแทนตามฉบับที่ 5 โดยผู้บริหารระดับจังหวัด และเขตสุขภาพ ร่วมพิจารณาการดำเนินงานในภาพรวม 


"การปรับปรุงเพิ่มค่าตอบแทนโอที ได้มีการแก้ไขข้อความเล็กน้อยในส่วนของแพทย์ จากเดิมที่ระบุว่า แพทย์อัตราเดิม 550- 1,100 บาท ได้แก้ไขข้อเสนอเป็นอัตรา 600-1,200 บาท แทน ทั้งนี้ จะมีการจัดทำร่างข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุขฯ และจัดทำร่างหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 5 ที่แก้ไขเพิ่มเติม นำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขระเบียบเงินบำรุงฯ และกฎหมายลำดับรอง เสนอปลัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาลงนามต่อไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

 

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเพิ่มรายชื่อสาขาวิชาชีพที่สามารถเบิกจ่ายค่าตอบแทนในอัตราสหสาขาวิชาชีพ แนบท้ายหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับที่ 11 ซึ่งเดิมมีการประกาศรายชื่อ 12 สาขาวิชาชีพ ก็ได้เพิ่มตำแหน่ง "นักโภชนาการ" เป็นลำดับที่ 13 รวมถึงเห็นชอบการปรับหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ซึ่งผ่านความเห็นชอบที่ประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยเสนอปรับฐานอัตราเงิน พ.ต.ส.เพิ่มร้อยละ 20 เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และเพิ่ม 8 วิชาชีพ ได้แก่

  • นักสาธารณสุขหรือนักวิชาการสาธารณสุข
  • แพทย์แผนไทย
  • นักกายอุปกรณ์
  • นักโภชนาการ
  • นักวิทยาศาสตร์การแพทย์
  • นักสังคมสงเคราะห์
  • นักฟิสิกส์รังสี
  • นักฟิสิกส์การแพทย์

โดยคาดการณ์ว่า งบประมาณจากการปรับฐานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.06 ซึ่งตรงนี้จะใช้เงินงบประมาณ จึงจะเสนอขอความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ต่อไป