"สทนช." รุกบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง ท่วมซ้ำซากบึงกาฬ

19 ธ.ค. 2565 | 07:56 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ธ.ค. 2565 | 14:56 น.

"สทนช." รุกบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง ท่วมซ้ำซากบึงกาฬ เน้นบูรณาการทุกภาคส่วนดึงชุมชนร่วมแก้ปัญหาให้ตรงจุด

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. อยู่ระหว่างดำเนินการโครงการศึกษาแผนบูรณาการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ  เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบปัญหาภัยแล้ง อุทกภัย และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคซ้ำซาก

 

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยนเรศวรและกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาทั้งด้านการจัดทำแผนบูรณาการตามสภาพปัญหาพื้นที่ในเชิงลึก จัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬและจัดทำรายงานวางโครงการเบื้องต้นที่สำคัญเร่งด่วนตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี

 

พร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศ และงานด้านประชาสัมพันธ์ มวลชนสัมพันธ์และการมีส่วนร่วม ปัจจุบันที่ปรึกษาได้ลงพื้นที่พบปะประชาชนกว่า 5 ครั้งผ่านกิจกรรมการประชุมปฐมนิเทศและการประชุมกลุ่มย่อย โดยมีประชาชนเข้าร่วมกว่า 611 คน เพื่อสอบถามความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และนำมาประกอบการจัดทำแผนบูรณาการ (Integrated Master Plan) รวมถึงจัดทำแผนการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพของจังหวัดบึงกาฬ โดยจะดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2566

ดร.สุรสีห์ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันจังหวัดบึงกาฬ มีความต้องการใช้น้ำรวม 92.529 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยมีความต้องการน้ำเพื่อการเกษตรในเขตชลประทาน 0.825 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีและนอกเขตชลประทาน 8.494 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี 

 

ส่วนความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคพบว่า ความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคในปัจจุบัน 20.274 ล้านลูกบาศก์เมตร ในอนาคต 20 ปีข้างหน้าจังหวัดบึงกาฬจะมีความต้องการใช้น้ำรวม 22.715 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพิ่มขึ้น 2.441 ล้านลูกบาศก์เมตร 

 

สทนช. รุกบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง ท่วมซ้ำซากบึงกาฬ

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดบึงกาฬ จึงเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ผ่านการจัดทำแผนหลักแบบบูรณาการ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบการพัฒนา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค การประปา และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของชุมชน

 

ในช่วงที่ผ่านมาจังหวัดบึงกาฬประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำทุกปี อีกทั้งระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูแล้ง หากมีการพัฒนาศักยภาพของบึง หนอง แหล่งน้ำต่างๆในจังหวัดบึงกาฬอย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำในภาคส่วนต่างๆในฤดูแล้ง 

จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า บึงหรือหนองน้ำธรรมชาติที่มีศักยภาพจำนวน 8 แห่ง ถูกนำมาพิจารณา ได้แก่ ห้วยบังบาตร หนองเชียงบุญมา หนอนนาแซง บึงขามเบี้ย หนองผักชี หนองใหญ่ หนองสามหนอง และ หนองร้อน 

 

ซึ่งหากมีการพัฒนาบึงหรือหนองน้ำทั้ง 8 แห่งตามแผน จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับแหล่งน้ำได้ แม้จังหวัดบึงกาฬมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการน้ำทั้งจังหวัด แต่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคในระดับตำบล ระดับหมู่บ้าน ซึ่งจำเป็นต้องมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สร้างฝาย ระบบเชื่อมโยงแหล่งน้ำ พัฒนาแหล่งน้ำ ขุดลอกแหล่งน้ำ ปรับปรุงซ่อมแซมระบบประปา และขยายเขตประปา

 

สทนช. รุกบริหารจัดการน้ำแก้ภัยแล้ง ท่วมซ้ำซากบึงกาฬ

ดร.สุรสีห์ กล่าวอีกว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริการจัดการน้ำที่ บึงโขงหลง และประตูระบายน้ำห้วยกำแพง ทั้ง 2 แห่ง นับเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดบึงกาฬ บึงโขงหลง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ อ.เซกา และ อ.บึงโขงหลง มีขนาดพื้นที่ 11,494.79 ไร่ เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่สำคัญของจังหวัดบึงกาฬ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอนุรักษ์ การผลิตประปา และการเพาะปลูก ซึ่ง สทนช. ได้กำหนดให้บึงโขงหลงอยู่ในกลุ่มแผนการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำอย่างเร่งด่วนให้สอดคล้องกับแผนแม่บทฯ น้ำ 20 ปี 

 

ขณะนี้มีหน่วยงานจากภาคประชาชน ภาครัฐ และท้องถิ่น เสนอแผนงานพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว โดยที่ปรึกษาโครงการได้รวบรวมข้อมูลและนำมาเสนอเพื่อพิจารณาดำเนินการพัฒนาในระยะต่อไป สำหรับประตูระบายน้ำห้วยกำแพง เป็นโครงการเพื่อบรรเทาอุทกภัยและลดความเสียหายจากอุทกภัยแก่พื้นที่ในเขตอำเภอเมืองบึงกาฬ เช่น ศูนย์ราชการจังหวัดบึงกาฬ พื้นที่หน่วยราชการ พื้นที่เกษตรกรรมข้าวและพืชไร่ เนื่องมาจากระดับน้ำหลากในแม่น้ำโขงสูงในบางปี และไหลย้อนเข้าห้วยกำแพง และเข้ามาในหนองกุดทิง 

 

โดยมีระดับสูงกว่าช่วงฤดูแล้งหลายเมตร ซึ่งกรมชลประทานรับผิดชอบก่อสร้างประตูระบายน้ำห้วยกำแพง คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 โดยจะช่วยลดความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากได้