ข่าวล่าสุดเกิดขึ้นกับประเทศจีนพบว่าจำนวนประชากรในปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 60 ปี หลังการเกิดของประชากรน้อยกว่าการตาย ในปีที่ผ่านมาจีนมีจำนวนประชากรทั้งหมดอยู่ที่ 1,411.75 ล้านคน ปรับลดลงราว 850,000 คนจากปีก่อนหน้า โดยมีจำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศ 9.56 ล้านคน ต่ำกว่าการเสียชีวิตของประชากรซึ่งอยู่ที่ 10.41 ล้านคน
ขณะเดียวกัน สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานอายุระหว่าง 16-59 ปี ปรับลดลงจาก 62.5% ในปี 2021 มาอยู่ที่ 62% ในปี 2022 ทำให้การคาดการณ์อินเดียจะแซงหน้า เป็นประเทศมีประชากรมากที่สุดในโลกปีนี้อาจจะเป็นไปได้จากรายงานของ World Population Review ซึ่งเป็นเว็บไซต์รวบรวมข้อมูลประชากรทั่วโลก
เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่าครั้งล่าสุดที่ประชากรจีนลดลงคือในปี 1960 จากการนำของ เหมา เจ๋อตุง ผ่านนโยบายแบบก้าวกระโดดในการพยายามเปลี่ยนระบบจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม แต่กลับล้มเหลว ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนภาวะขาดแคลนอาหารจำนวนมาก
สาเหตุการหดตัวของประชากรในหลายสิบปีของจีนเป็นผลมาจากการระบาดของโควิด และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจจีนที่ทำให้ประชากรในประเทศต้องการมีลูกลดลง นักเศรษฐศาสตร์ระบุว่า การหดตัวของประชากรอาจส่งผลเชิงลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวของจีน จะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัว จากรายได้ที่ลดลงและหนี้ภาครัฐเพิ่มขึ้น มาจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและสวัสดิการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบไปทั่วโลก เพราะแรงงานและการผลิตที่ลดลงของจีน อาจทำให้ค่าใช้จ่ายและเงินเฟ้อสหรัฐฯ และยุโรปเพิ่มขึ้นด้วย
เมื่อพิจารณาทิศทางจำนวนประชากรโลกไม่ใช่แค่ประเทศจีนเท่านั้นที่กำลังเจอกับจำนวนประชากรเกิดใหม่ลดลง ในทำนองเดียวกันกับที่ "องค์การสหประชาชาติ" รายงานว่า การเติบโตของประชากรโลกลดลงต่ำกว่า 1% ในปี 2563 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2493
ความท้าทายอีกมุมหนึ่งของการลดลงของประชากรก็คือ "อัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิง" สำนักข่าว BBC รายงานไว้ในปี 2020 ที่ระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์ ทั่วโลกจะลดลงเหลือเพียง 1.7 คนในปี 2100 เมื่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศตกลงต่ำกว่าประมาณ 2.1 จำนวนประชากรจะเริ่มหดตัวลง ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าประชากรโลกจะปรับตัวถึงจุดสูงสุดที่ราว 9,700 ล้านคนในปี 2064 ก่อนจะปรับตัวลดลงเหลือ 8,800 ล้านคนในปี 2100 ในที่สุด
ข้อมูลระบุว่า ประเทศที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากอัตราการเจริญพันธ์ุปรับตัวลดลงจนประชากรอาจจะปรับตัวลดลงมากถึง 50% ในปี 2100 มีมากถึง 23 ประเทศ อาทิ ไทย, สเปน, อิตาลี, เกาหลีใต้ และอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวงในอนาคตอันใกล้
สำหรับผลกระทบทางเศรษฐกิจกับจำนวนประชากรลดลง คนสูงอายุมากขึ้น ทำให้มีคนทำงานน้อยลงและประสิทธิภาพในการผลิตต่ำลงไปด้วย ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของประเทศ
จากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ปี 2564 ระบุถึงความเกี่ยงโยงกับสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ทั่วโลก ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจในระยะสั้น ซึ่ง IMF ระบุว่าการอัดฉีดนโยบายการคลังในประเทศที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ จะมีประสิทธิภาพต่ำกว่าประเทศที่มีประชากรอายุน้อย
ประเด็นสำคัญ คือตลาดแรงงานที่หายไปจากระบบ และการจับจ่ายที่น้อยกว่าคนในวัยทำงาน โดยประชากรโลกในปัจจุบันมีสถิติประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 962 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,550 ล้านคน
ข้อมูล : BBC , worldpopulationreview, chula