วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) ไทยพบจุดความร้อนวานนี้ (20 ก.พ. 66) จำนวน 735 จุด
ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ยังคงเป็นอันดับหนึ่งอยู่ที่ 2,046 จุด รองลงมาคือประเทศไทย 735 จุด กัมพูชา 692 จุด สปป.ลาว 655 จุด เวียดนาม 107 จุด และมาเลเซีย 5 จุด
สำหรับจุดความร้อนในประเทศไทยส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 261 จุด ป่าสงวนแห่งชาติ 225 จุด พื้นที่เกษตร 107 จุด พื้นที่เขต สปก. 77 จุด ชุมชนและอื่นๆ 64 จุด และริมทางหลวง 1 จุด จังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ อุตรดิตถ์ 88 จุด ตาก 73 จุด และเลย 62 จุด ตามลำดับ
ส่วนค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อตรวจสอบจากแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” พบว่าหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก ลำพูน เชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนออกจากบ้านควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์การจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพจากประแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม
ที่มา : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)