จัดระหว่าง 28 ก.พ.- 4 มี.ค.นี้ ที่อุบลราชธานี นอกจากแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าทางวิชาการด้านวัสดุศาสตร์แล้ว ยังมีพิธีมอบรางวัลแก่นักวิจัย ที่สมาคมวิจัยวัสดุ ประเทศไทย ริเริ่มจัดขึ้นเป็นครั้งแรก
โดยมีรางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น 3 รางวัล เพื่อส่งเสริมกระตุ้นนักวัสดุศาสตร์รุ่นใหม่ ให้วิจัยวัสดุที่มีคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์พัฒนาการทางการผลิต สร้างความก้าวหน้าทางวิทยาการแก่วงการวัสดุศาสตร์ไทย
ดร.พินิจ กิจขุนทด เป็น 1 ในผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยวัสดุรุ่นใหม่ดีเด่น ประจำปี 2565 จากผลงานศึกษาวิจัยด้านการพัฒนาเทคนิค และการศึกษาโครงสร้างของวัสดุขั้นสูง ด้วยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ (X-Ray absorption spectroscopy) จากแสงซินโครตรอน
ดร.พินิจ เป็นนักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง 1 สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์กรมหาชน) จบการศึกษาปริญญาตรีคณะวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์ เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น และไปจบปริญญาเอกด้านเดียวกัน จากม.บริสตอล สหราชอาณาจักร
ได้รับทุนวิจัยและมีผลงานวิชาการในวารสารระหว่างประเทศหลากหลายต่อเนื่อง
รวมถึงคว้ารางวัล Gold Award ในงานมหกรรมวิจัยแห่งชาติ ประจำปี 2563 (Thailand Research Expo 2020) ในผลงาน “แก้วขั้นสูงสำหรับการประยุกต์ใช้กักเก็บพลังงานสะอาดแห่งอนาคต”
โดยสังเคราะห์แก้วแมงกานีสลิเทียมบอเรต เมื่อทดสอบโครงสร้างเชิงลึกในระดับอะตอมของแก้ว โดยเทคนิคการดูดกลืนรังสีเอกซ์ด้วยแสงซินโครตรอน พบว่ามีคุณสมบัติเหมาะสม สามารถนำไปต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้เป็นวัสดุขั้วแคโทดสำหรับแบตเตอรี่ชนิดลิเทียมไอออน ต่อไปได้ในอนาคต
โดยมีข้อดีคือ ทนทานต่อการกัดกร่อน เพิ่มรอบการใช้งาน ทนความร้อนดี สามารถใช้แบตเตอรีนี้ในงานอุตสาหกรรมทนความร้อนสูง ซึ่งได้ยื่นขออนุสิทธิบัติการประดิษฐ์เรียบร้อยแล้ว
คอลัมน์สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,865 วันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 1 มีนาคม พ.ศ.2566