จากโจทย์ภาคเกษตรชาวสวนปลูกไผ่ใช้เวลา 3 ปีกว่าจะได้อายุในการตัดลำขาย ระหว่างนั้นไม่มีรายได้งอกเงย แถมใบไผ่ยังกลายเป็นของเหลือใช้เสียเปล่าทางการเกษตร
ทีมวิจัย SCI-TU ศึกษาสารสกัดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของต้นไผ่ จนพบสารประกอบสำคัญ “ไอโซออเรียนติน (isoorientin)” จากใบไผ่ซางหม่น ที่ปลูกกันแพร่หลายในไทย ออกฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย ไวรัสเดงกี่ ต้นตอโรคไข้เลือดออก และต้านการอักเสบ
ที่สามารถต่อยอดสู่สุดยอดบิวตี้โปรดักส์ ด้วยคุณสมบัติฟื้นฟูผิวให้ฉํ่านํ้า เซลล์ผิวแข็งแรง ลดการเกิดสิว รอยดำจากฝ้า และบำรุงผิวอักเสบ
SUCHADA Model เป็นแนวคิดปั้นเด็กวิทย์คิดประกอบการ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านวิทยาศาสตร์ ส่งต่อแรงบันดาลใจสู่คนรุ่นใหม่ ปลุกไฟสายวิทย์ ตอบโจทย์ 3 เป้าหมายสำคัญของ Gen Z ได้แก่ งานก้าวหน้า รายได้มั่นคง และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์
รศ.ดร.สุภกร บุญยืน จบปริญญาตรี และโท จากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเคมี มหาวิทยาลัยมหิดล และไปจบปริญญาเอกสาขาเดียวกัน จากมหาวิทยาลัยบริสตัล สหราชอาณาจักร
เป็นอาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. เป็นอาจารย์รับเชิญจากโรงเรียนมัธยมต่างๆ และเลขาธิการสมาคมครูสอนวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
ผลงานวิจัยได้รางวัลต่อเนื่อง อาทิ รางวัลเหรียญทอง จากผลงานวิจัย ไพรม์ บี0051 พลัส จากสารสกัดชาเขียว สำหรับอาหารสมอง และรางวัลเหรียญเงิน จากผลงานวิจัยไมเซร่า คลีนซิ่ง และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากสารสกัดใบไผ่ ในงาน Japan Design, Idea and Invention Expo 2021 เมื่อส.ค. 2564
สารสกัดใบไผ่ได้รางวัลอีก จากการเข้าร่วมประกวดในงาน The 5th China (Shanghai) International Invention & Innovation Expo เมื่อ 14-16 เม.ย. 2565 ณ นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน
ก่อนหน้านั้นก็ได้รางวัลเหรียญทองของWIPA จากผลงานการสังเคราะห์อนุภาคทองขนาดนาโนโดยใช้คลื่นไมโครเวฟ จากสารสกัดเพกาเพื่อใช้ในงานสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.สุภกร บุญยืน
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คอลัมน์สปอตไลต์ หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,863 วันที่ 19-22 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566