สันติธาร วิเคราะห์ 5 ปรากฎการณ์ AI : งานในโลกที่ไม่มีคน คนในโลกที่ไม่มีงาน

08 มี.ค. 2566 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :08 มี.ค. 2566 | 03:26 น.

สันติธาร เสถียรไทย วิเคราะห๋ 5 ปรากฎการณ์ AI ที่ทำให้งานถูกดิสรัปครั้งใหญ่ เกิดปรากฎการณ์ งานในโลกที่ไม่มีคน คนในโลกที่ไม่มีงาน

“งาน (Work)" กำลังถูกดิสรัปครั้งใหญ่ นี่คือสิ่งที่ “ดร.สันติธาร เสถียรไทย” ประธานทีมเศรษฐกิจ (Group Chief Economist) และกรรมการผู้จัดการ Sea Ltd แพลตฟอร์มดิจิทัล และผู้เขียนหนังสือ Futuration และ The Great Remake วิเคราะห์ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ หลังจากช่วงที่ผ่านมามีโอกาสไปร่วมฟัง-ถก-คิดกับหลายวงสนทนาทำให้ได้ข้อคิดดังต่อไปนี้  

โดยได้ชี้ให้เห็นผลที่เกิดขึ้นแต่ละด้าน ว่า ด้านหนึ่งจากการพัฒนาของ AI ที่ทำให้ต้องจินตนาการ "งานในโลกที่ไม่มีคน"  ส่วนอีกด้านมาจาก การลาออกครั้งยิ่งใหญ่ (Great Resignation & Quiet Quitting) ที่ทำให้ต้องคิดถึง "คนในโลกที่ไม่มีงาน" ใน

 

ไซบอร์กแทนคน ไม่ใช่ AI แทนใคร

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนดูจะเห็นตรงกันว่าอนาคตไม่ใช่หุ่นยนต์มาแทนคน แต่เป็นคนที่ร่วมมือกับAI หรือที่บางครั้งเรียกกันว่า “ไซบอร์ก” ที่อาจจะมาแทนที่คนทำงานปกติ เสมือนเครื่องคิดเลขไม่ได้มาแทนที่คนแต่ทำให้คนที่ใช้เครื่องคิดเลขคล่องมาแทนที่คนที่ใช้ไม่เป็น

การที่คนต้องร่วมมือกับ AI ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ที่ใหม่คือ การดีไซน์รูปแบบของการทำงานร่วมกันระหว่างคนกับหุ่นยนต์อาจต้องเปลี่ยนแปลงอีกมากเพราะการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเอไอในช่วงที่ผ่านมา

การมาของเอไอคลื่นลูกใหม่มาแรงที่เรียกว่า Generative AI แบบ ChatGPT Stable, Diffusion, DALL-E 2 สามารถทำงานหลายอย่างที่เมื่อก่อนคิดว่าจะทำได้ก็ต่อเมื่อมี Creativity ของมนุษย์ เช่น ทำคอนเทนท์ แต่งกลอน เขียนเพลง สร้างวีดีโอคลิป ทำอะนิเมชั่น หรือแม้แต่เขียนโค้ดคอมพิวเตอร์ ฯลฯ แต่วันนี้เอไอสามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้โดยใช้ฐานข้อมูลที่มีอยู่

และจะทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆเมื่อมนุษย์ยิ่งเข้าไปใช้มากขึ้น เช่น ChatGPT ใช้เวลาแค่ 2 เดือนในการเพิ่มผู้ใช้รายเดือนทะลุ 100 ล้านคน และบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ต่างก็ทุ่มเงินลงทุนแข่งกันพัฒนาเอไอแบบนี้จึงต้องกลับมาคิดใหม่ว่างานแบบไหนจะอยู่ แบบไหนจะไป

“แยกหน้าที่”มากกว่า “แย่งอาชีพ”  (Tasks vs Jobs)

การถกเถียงกันต้องขยับจากการคิดว่า “อาชีพ” ใดจะถูกแทนที่ด้วยเอไอมาเป็น “หน้าที่” อะไรที่เอไอทำได้ อันไหนที่มนุษย์ควรทำ เช่น อาชีพนักเขียนอาจไม่ได้หายไป แต่หน้าที่การร่างโครงบทความ draft แรก การรวบรวมข้อมูล การหาภาพประกอบ อาจไม่ต้องทำโดยมนุษย์อีกต่อไป เราจึงต้องจินตนาการแต่ละอาชีพที่เรารู้จักใหม่ (Reimagine)

บางหน้าที่อาจให้เอไอทำแทนมนุษย์ไปเลย เช่น งานที่ซ้ำซาก งานที่ไม่ต้องใช้สัมผัสมนุษย์มากนัก และงานที่หากผิดพลาดไม่ส่งผลรุนแรงเกินไป เพราะเอไออาจจะทำถูก 95% แต่ อีก 5%ที่ผิดอาจถึงชีวิต

บางหน้าที่ที่หากผิดพลาดแล้วเรื่องใหญ่หรือการเข้าใจบริบทเป็นสิ่งสำคัญให้เอไอทำก่อนแล้วมนุษย์คอยคุมหรือปรับเอาไปใช้ต่อ (เช่น ร่างบทความ ทำคอนเทนท์ ฯลฯ)

บางงานที่ต้องใช้สัมผัสมนุษย์สูงให้คนทำออกหน้าไปแล้วเอไอคอยเช็ค แนะนำวิธีพัฒนาคุณภาพ (เช่น งานคอลเซ็นเตอร์บางอย่าง)

บางหน้าที่อาจเกิดขึ้นมาใหม่ในยุคเอไอ เช่น Prompt Engineer ที่มีหน้าที่ดีไซน์การป้อนคำถาม/คำสั่งให้เอไอเพื่อให้ได้ประโยชน์จากการประมวลข้อมูลสูงที่สุดและได้คำตอบที่ต้องการ เพราะในหัวข้อเดียวกันหากถามหรือป้อนคำสั่งคนละวิธีก็ได้ผลไม่เหมือนกัน ในแง่นี้เอไออาจมีความคล้ายเด็กที่ฉลาดแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองรู้อะไร ต้องคอยมีผู้ใหญ่คอยช่วยดึงความสามารถออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่

ซึ่งการดีไซน์กระบวนการทำงานใหม่นี้ยังต้องมีการลองถูกลองผิดอีกมากไม่ต่างกับสมัยที่การมาของไฟฟ้าทำให้รูปแบบการทำงานโรงงานเปลี่ยนใหม่หมด

Creativity อาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของมนุษย์อีกต่อไป

เดิมทีผู้เชี่ยวชาญมองว่าความสร้างสรรค์คือสิ่งที่เอไอทำแทนคนไม่ได้ แต่ในยุคของ Generative AI สามารถทำกิจกรรมที่ต้องใช้ Creativity ได้สารพัดอย่างที่ยกตัวอย่างไปข้างบน

งานสายครีเอทีฟจึงอาจถูกท้าทาย-ดิสรัปใน 4 รูปแบบ

หนึ่ง คือ เอไอสามารถทำเองแทนที่คนได้เลยในบางด้าน เช่น เขียนบทความเองเลย จนมีข่าวว่ามหาวิทยาลัยที่อเมริกาเดือดร้อนเพราะนักเรียนต่างใช้ChatGPTทำการบ้านให้

สอง เอไออาจทำลาย “รั้ว”ที่เคยล้อมวิชาชีพสายครีเอทีฟเหล่านี้ (ลด Barriers to entry) คนที่ไม่ได้เรียนมาและมีทักษะเหล่านี้สามารถเข้ามาสร้างคอนเทนท์ สร้างงานครีเอทีฟเหล่านี้ได้ง่ายมากๆ (Democratisation)

"ผลคือ มีงานแบบนี้เกลื่อนไปหมด งานไหนฮิตแป๊บเดียวก็ก๊อปปี้กันหมดจน ซัพพลายล้นตลาดจนไม่เหลือมูลค่า อาจคล้ายการเปลี่ยนจากยุคที่ไม่มีอินเตอร์เน็ตมามีอินเทอร์เน็ตที่ลอกงาน ดัดแปลง ต่อยอดงานกันง่ายมาก) ทำให้ค่าตัว-ค่าแรงของคนที่ทำงานด้านนี้ลดลงไปด้วย ล่าสุดก็มีข่าวว่าวงการสำนักพิมพ์หนังสือมีปัญหาเพราะพบว่าคนใช้ChatGPTเขียนหนังสือกันจำนวนมาก"   

สาม เกิดคำถามว่างานครีเอทีฟที่ถูกสร้างขึ้นมาเป็นของใคร

"หากเราสั่งให้เอไอแต่งเพลงขึ้นมา อันนี้คืองานสร้างสรรค์ของเอไอตัวนี้ ของคนโปรแกรมเอไอ ของคนแต่งเพลงหลายคนที่เอไอตัวนี้ไปลอกเลียนมา หรือ ของเราคนที่คอยป้อนคำถาม-คำสั่งให้เอไอจนเขียนเพลงออกมาเสร็จ หรือเป็นของทุกคน? โดยแต่ละประเทศและสังคมอาจให้ส่วนแบ่งความเป็นเจ้าผลงานนี้ไม่เหมือนกัน"

ทั้งหมดนี้ไม่ได้แปลว่าทักษะ Creativity ไม่สำคัญแล้วแต่อาจทำให้ต้องมานิยามใหม่ว่าอะไรคือ Creavity ที่แท้จริง เพราะอาจได้เห็นว่างานครีเอทีฟหลายงานอาจมีทั้งส่วนที่ใช้ Creativity สร้างงานที่ออริจินัลขึ้นมาใหม่จริงๆและส่วนที่ไม่ได้ใช้ Creativity เท่าที่เราคิด

Care Economy ยังต้องพึ่งมนุษย์ แต่การเป็นมนุษย์ไม่ได้การันตีว่าจะมีทักษะแห่งมนุษย์

ทักษะแห่งมนุษย์ เช่น ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น (Empathy) ทักษะทางอารมณ์ (EQ) ฯลฯ จะเป็นสิ่งที่มีค่ามากขึ้นในอนาคตเพราะเอไอทำแทนที่คนได้ยากและโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยที่ต้องการการดูแลมากขึ้น แต่เราไม่ควรประมาทว่าเพียงเพราะเราเป็นมนุษย์เราจะมีทักษะพวกนี้มากกว่าหุ่นยนต์

ในวงเสวนาหนึ่ง มีการถกกันว่า หากผล X-rayออกมาบอกว่าคุณเป็นโรคร้าย คุณคงอยากให้หมอที่เป็นคนบอกมากกว่าหุ่นยนต์ใช่ไหม แล้วมีคนหนึ่งเถียงขึ้นว่าแล้วแต่หมอแบบไหน เพราะหมอบางคนอาจทำหน้าที่บอกข่าวร้ายได้แย่กว่าหุ่นยนต์เสียอีก

แม้จะเป็นการพูดกึ่งเล่นกึ่งจริงแต่คนในวงเสวนานั้นก็ยอมรับว่าในโลกที่เน้นประสิทธิภาพและความเร็วมากๆอย่างในปัจจุบันบางครั้งคนก็ทิ้งทักษะแห่งมนุษย์เหล่านี้ไป โดยมองว่ามันไม่ใช่สิ่งจำเป็น

เอไออาจทำให้ต่อไป คำว่า “Care” ใน “Healthcare” มีค่าไม่แพ้คำว่า “Health” และในวงการอื่นก็น่าจะเจอประเด็นนี้เช่นกัน

คนขาดงาน หรือ งานขาดคน?

การมาของเทคโนโลยีเอไอไม่ได้เกิดขึ้นโดดๆแต่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมด้านอื่นที่มีผลกับตลาดงานด้วย การเข้าบริบทเหล่านี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

ในขณะด้านหนึ่งคนกำลังกลัวหุ่นยนต์มาแย่งงาน หลายอุตสาหกรรมและหลายประเทศกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง โดยมีเหตุผลหลายประการ ทั้งโครงสร้างประชากรโลก (และไทย) ที่เข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้คนวัยทำงานมีน้อยลง

นอกจากนี้คนจำนวนไม่น้อยก็กำลังไม่อยากทำงาน(แบบเดิม) ทำให้เกิดเทรนด์ใหญ่อย่าง Great Resignation ที่คนจำนวนมากลาออกจากงานประจำเดิม ต่อด้วย Quiet Quitting สำหรับคนที่ยังออกจากงานไม่ได้หรือยังไม่อยากออกทันทีแต่ก็ถอดใจเลิกทำงานแบบเงียบๆ

หนึ่งในเหตุผลสำคัญของเทรนด์นี้คือการที่คนกำลังเริ่มคิดถึงชีวิตที่ๆม่ได้มีแต่ “งาน” กำลังตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำงานไปเพื่ออะไร ต้องการอะไรจากมันบ้างนอกจากเรื่องเงิน บางคนอาจให้ความสำคัญกับpurpose ของงานว่าทำอะไรที่ตรงกับValues ของเขาไหม บ้างก็อยากได้งานที่ให้โอกาสการเรียนรู้พัฒนาตนเอง  ให้สมดุลย์กับชีวิต-งานที่ดีกว่าเดิม ฯลฯ

ดังนั้นหากมองในแง่นี้การมาของเอไอก็อาจเป็นทางออกที่สำคัญที่จะช่วยลดปัญหาขาดแคลนแรงงานที่อาจจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆในอนาคต อาจพูดได้ด้วยซ้ำว่าเทคโนโลยีแบบเอไอ หุ่นยนต์ ออโตเมชั่น ต่างก็ล้วนถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน (หรือค่าแรงที่แพงขึ้น)

นอกจากนี้เอไออาจสามารถช่วยแบ่งเบางาน-หน้าที่ที่ซ้ำซาก เพื่อให้คนเอาเวลาไปทำงานที่สร้างสรรค์กว่า หรือไปพัฒนาตัวเองในด้านอื่นๆที่มีประโยชน์มากขึ้น เสมือน การมีเครื่องคิดเลขก็ทำให้ไม่ต้องมาท่องสูตรคูณ ทดเลข ไปใช้เวลานั่งคิดตีโจทย์ยากๆหรือเอาเลขมาประยุกต์ใช้แก้ปัญหาต่างๆแทน

Facebook : สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai

ดร.สันติธาร ทิ้งท้ายว่า การรีสกิล Reskilling แรงงานจะเป็นโจทย์ใหญ่ยิ่งกว่าเดิม การมาของเทคโนโลยีเอไอจึงเป็นทั้งคำตอบและคำถาม ทั้งโอกาสและความท้าทาย ขึ้นอยู่กับว่าจะรับมืออย่างไร

หนึ่งในโจทย์สำคัญที่สุดคือจะรีสกิลทักษะแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีสเกลและรวดเร็วทันการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร  เพื่อโยกคนจากงานที่กำลังหายไป สู่หน้าที่บทบาทใหม่ที่อาจมีดีมานด์มากขึ้นหคือถูกสร้างขึ้นมาใหม่เพราะเทคโนโลยี

หากตอบตรงนี้ไม่ได้ประเทศนั้นก็อาจเจอทั้งปัญหา “คนขาดงานทำ” และ ปัญหา“งานขาดคนทำ”ไปพร้อมๆกัน และที่สำคัญคนที่ขาดงานทำมักจะเป็นกลุ่มที่เปราะบางขาดโอกาสในสังคม ทำให้ความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น คนถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากขึ้น

"เราอาจถามเอไอได้แล้วว่าประเทศและองค์กรควรมียุทธศาสตร์การรีสกิลอย่างไร แต่สุดท้ายแล้วมันจะเกิดขึ้นจริงไหมคงยังขึ้นอยู่กับมือของคน"

ข้อมูล  : สันติธาร เสถียรไทย - Dr Santitarn Sathirathai