ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น “เมดิคอล ฮับ” ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความได้เปรียบในเชิงภูมิศาสตร์ผนวกความเป็นเลิศด้านการแพทย์ แต่การผลักดันให้ไทยเป็นเมดิคอล ฮับและคนไทยเข้าถึงระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีได้อย่างยั่งยืน ต้องมีการปฏิรูปและกำหนดยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม “ฐานเศรษฐกิจ” จึงจัดงาน “THANX FORUM 2023 : HEALTH AND WELLNESS SUSTAINABILITY" ขึ้น เพื่อนำเสนอแนวคิดและการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้น
AI ตัวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ-ลดต้นทุน
นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธานกลุ่ม บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “INNOVATION กับการพลิกโฉมเฮลท์แคร์ไทยสู่ความยั่งยืน” ว่า โอกาสด้านเฮลท์แคร์ในไทยมีอีกมาก ซึ่งตลาดภายในประเทศใหญ่มาก สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ได้ทั้งหมด เพื่อพัฒนาเรื่องของคุณภาพ รวมถึงช่วยลดต้นทุนได้ อย่างไรก็ดีเทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยได้มาก โดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาช่วยเติมเต็ม และเพิ่มประสิทธิภาพของแพทย์ เนื่องจากหากใช้ AI อย่างเดียวคงจะมีประสิทธิภาพไม่เต็มที่ เพราะบางครั้ง AI ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่ในการให้คำแนะนำ
อย่างไรก็ดี หากนำ AI มาผนวกเข้ากับแพทย์จะมีประสิทธิภาพอย่างมาก โดยเวลานี้สิ่งที่สำคัญคือการที่คนกับ AI และระบบการรักษาสามารถอยู่ร่วมกันโดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่ม Productivity ลดต้นทุน และทำให้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับโอกาสในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังมีอีกมาก
“ประเทศไทยหากมีนโยบายที่ดี หรือชัดเจน การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Medical Tourism) หรือ การเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ (Medical Hub)ในภูมิภาคสามารถทำได้อย่างแน่นอน เพราะแบรนด์ของไทยเมื่อเทียบกับในภูมิภาคก็ดีกว่า รวมถึงไทยเองก็เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากผู้ป่วยที่เข้ามารักษาส่วนใหญ่จะเป็นระดับสูง ไม่ใช่มาเพราะราคาถูก แต่มาเพราะจ่ายในราคาที่ไม่สูงมาก แต่ได้รับบริการที่ดีที่สุด เรียกว่าโรงพยาบาลระดับโลกอยู่ที่ไทยเยอะมาก”
สร้างระบบนิเวศเชิงสุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจำนวนบุคคลากรทางการแพทย์ที่ยังไม่เพียงพอ โดยเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไข ซึ่งไทยจะต้องทำห่วงโซ่ระยะยาวให้การให้บริการเป็นแบบ 1 ต่อ 1 ตั้งแต่ต้นจนจบ ไม่ต้องส่งต่อหลายทอดทำให้เป็นแพลตฟอร์ม โดยจะต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) และผนึกร่วมกัน หรือเรียกว่าเป็นการร้อยเรียงระบบการให้บริการทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรัฐบาลจะต้องเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ
“รัฐบาลต้องเป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อสร้างนโยบายขึ้นมาให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน เพราะทุกคนที่เข้ามาย่อมต้องการบริการแบบ N To N โดยประเทศไทยเองและคน แม้กระทั่งข้อมูลพื้นฐานทางด้านสุขภาพจะต้องแบ่งเป็น หรือแชร์กันได้ทั้งหมด หรือกล่าวง่ายๆก็คือต้องวางพื้นฐานให้ถูกต้องก่อน ให้คนเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพได้อย่างทั่วถึง พร้อมข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่าย”
นายเรืองโรจน์ กล่าวอีกว่า ปัญหาด้านสุขภาพ หากไม่แก้ทั้งหมด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงให้เป็นระบบ รวมถึงไม่มีการร่วมมือกันทั้งในรูปแบบที่เป็นสาธารณะและส่วนตัว และสร้างทำนโยบายที่เป็นอนาคต ประเทศไทยจะไม่มีทางเปลี่ยน
THG เดินหน้ายกระดับเฮลท์แคร์
นายแพทย์ ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG กล่าวบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “Medical Hub กับความยั่งยืน” ว่า Thailand Medical Hub และ Sustainability เกี่ยวข้องในภาคการแพทย์ 4 แขนงคือ
1. Medical Service Hub การแพทย์และบริการที่เกิดในโรงพยาบาล ขับเคลื่อนโดยหมอและพยาบาลนอกจากคนไข้ในประเทศแล้วในละปียังมีคนไข้ต่างประเทศบินตรงเข้ามารักษาในประเทศไทยจำนวนมาก
2. Wellness Hub เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เกิดนอกโรงพยาบาล มีความสำคัญทางตรงกับ General tourism
3. Academic Hub เป็นบทบาทของโรงพยาบาลขนาดใหญ่และวิทยาลัยการแพทย์ ถ้าไม่มีวิชาการจะไม่มีหมอเก่งๆที่สามารถรักษาโรคซับซ้อนได้
4. Product Hub อุตสาหกรรมและธุรกิจการผลิตยา,สมุนไพรเพื่อจำหน่ายทั้งในและส่งออกเป็น global business ของภาคอุตสาหกรรม
“ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้วประเทศไทยใช้เงินประมาณ 50,000 ล้านบาทกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ปัจจุบันใช้เม็ดเงินประมาณ 1.6 แสนล้านบาทสำหรับโครงการนี้หรือเติบโต 3 เท่า แลกกับการที่คนไทยสุขภาพดีขึ้นและป้องกันการล้มละลายทางครัวเรือน ที่สำคัญคือแพทย์พยาบาลไทย Keep skill โรคยากๆที่อยู่ในโปรแกรม ทำให้สามารถรองรับ Medical Tourism ได้และสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจต่อมา
"ตอนแรกเรามีความเชื่อว่าถ้าเรามีการโปรโมต Medical Tourism จะเป็นการทำให้แพทย์หันไปรักษาคนต่างชาติมากกว่ารักษาคนในประเทศ แต่ปัจจุบันความเชื่อนี้หายไป เพราะพิสูจน์แล้วว่าเมื่อคนไทยสุขภาพดีทำให้หมอ พยาบาลเก่งขึ้นสามารถรักษาโรคยากๆได้มากขึ้น Medical Tourism ก็จะมี Resource ที่จะใช้ขับเคลื่อน Medical Hub ต่อ”
หนุนสร้างความมั่งคั่งแบบยั่งยืน
นายแพทย์ธนาธิป กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงอยากฝากผู้ที่จะขึ้นมาเป็นนายกฯในอนาคต ให้ความสำคัญกับนโยบายทางด้านสุขภาพ และทำให้เกิดความมั่งคั่งแบบยั่งยืนไม่ใช่นโยบายแบบชั่วข้ามคืน รวมทั้งการเพิ่มฐานราก Infrastructure ก็ คือคน
เพราะ Healthcare เป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานทักษะเฉพาะและใช้จำนวนบุคลากรจำนวนมาก คนไข้ 1 เตียงใช้บุคลากรทางการแพทย์ 8 คน ใน 8 คนนั้น 4-5 คนเป็นคนที่มีความสามารถในการการรักษาเฉพาะทาง เป็นคนที่ต้องการทักษะและมีราคาแพง เพราะฉะนั้นการรักษากำลังการผลิตเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะพยาบาลที่ขาดแคลน ทำให้ธุรกิจโรงพยาบาลไม่สามารถขยายโรงพยาบาลได้
“ตอนนี้ในประเทศไทยมีคณะพยาบาลศาสตร์ 80 แห่ง กำลังการผลิตอยู่ที่ 1.5 หมื่นคนต่อปี แต่ในระยะหลังๆมีคนสนใจเข้ามาเรียนพยาบาลแค่ 8,000 ต่อปี ต่างจากเมื่อ 30 ปีที่แล้วที่อาชีพพยาบาลเป็นอาชีพที่ดีอันดับ 1 เป็น Top of mind คนอยากเป็นพยาบาลเพราะมีเกียรติ แต่ตอนนี้ลดลงเพราะ Generationใหม่ๆ ทั้ง Gen Y Gen Zไม่อยากทำงานบริการและเป็นบริการที่ใช้วิชาการทั้งสูงด้วย เราอยากให้บรรจุพยาบาลเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ไม่ให้พยาบาลหายไปทำอาชีพอื่นเพราะไม่ได้รับการบรรจุ ทำให้เราเสียแรงงานดีๆออกจากระบบ เพราะฉะนั้นจะต้องคีฟพยาบาลดีๆ ให้อยู่ในระบบด้วยผลตอบแทนที่ดี”
สำหรับปัจจุบันตัวเลขรวมของเฮลท์แคร์อยู่ที่ 5% ของ GDP การจ่ายจากภาคประกันประมาณแสนกว่าล้าน และเม็ดเงิน 4-5 แสนล้านบาท 80% มาจากภาครัฐจ่ายให้ แต่เชื่อว่าเฮลท์แคร์ไปได้ไกลถึง 20% ของ GDP แต่การจะโตได้จะต้องมีคนจ่ายร่วม เรายังไม่เชื่อว่ารัฐจะสามารถจ่ายเข้าไปในระบบนี้โดยที่ไม่มีคนจ่ายร่วม เพราะฉะนั้นในเรื่องของ Medical Tourism ถ้าไม่มีบุคลากรที่มีความชำนาญหรือรักษาโรคยากๆได้ ไทยก็จะออกจากระบบและจะสู้ประเทศที่รํ่ารวยและมีการ Keep skill ของแพทย์และพยาบาลต่อโรคยากๆไม่ได้”
ทั้งนี้ในส่วนของ THG มีการดำเนินการทั้ง 4 ส่วนไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ภาครัฐและเอกชนในส่วนของการพัฒนาและยกระดับ Medical Service Hub ขณะที่ Wellness Hub เรามีจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ และโปรเจค Horizon Rehab Center ในการฟื้นฟู พักฟื้น บำบัดยาเสพติด อดเหล้า-สุรา การร่วมมือกับคณะพยาบาลศาสตร์เช่นมหาวิทยาลัยสยาม ในการผลิตบุคคลากรทางการแพทย์และการคิดค้นยาในการรักษาโรคอย่างต่อเนื่อง