กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 5 เรื่อง “พายุฤดูร้อน” ตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 บริเวณประเทศไทยตอนบน จะมีผลกระทบจากบริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับคลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือ ในขณะที่ประเทศไทยมีอากาศร้อน
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล และภาคตะวันออก มีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้น โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และมีลูกเห็บตกบางพื้นที่ รวมถึงอาจมีฟ้าผ่าเกิดขึ้นได้
ด้วยเหตุนี้จึงขอให้ประชาชน ต้องระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อนที่อาจจะเกิดขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้างและป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรง ขณะที่เกษตรกรนั้น ควรเตรียมการป้องกัน และระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรด้วย
เช็คพื้นที่ได้รับผลกระทบจากพายุฤดูร้อน
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจาก “พายุฤดูร้อน" โดยแยกออกเป็นตั้งแต่วันที่ 12 - 14 มีนาคม 2566 พร้อมจังหวัดที่ต้องระวังเจอผลกระทบ ดังนี้
วันที่ 12 มีนาคม 2566
ภาคเหนือ 13 จังหวัด : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด : จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู และอุดรธานี
วันที่ 13 มีนาคม 2566
ภาคเหนือ 15 จังหวัด : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัด : จังหวัดเลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี ชัยภูมิ และนครราชสีมา
ภาคกลาง 13 จังหวัด : จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ภาคตะวันออก 8 จังหวัด : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 14 มีนาคม 2566
ภาคตะวันออก 2 จังหวัด : จังหวัดจันทบุรี และตราด