April Fool’s Dayคือวันอะไร มีต้นกำเนิดจากไหน ทำไมต้องเมษาหน้าโง่

31 มี.ค. 2566 | 23:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 เม.ย. 2566 | 00:22 น.

April Fool’s Dayคือวันอะไร มีต้นกำเนิดจากไหน ทำไมต้องเมษาหน้าโง่ หลังวันที่ 1 เมษายนเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง ฝั่งชาวตะวันตกนิยมเล่นกัน สามารถโกหกหรือปล่อยข่าวลืออะไรก็ได้

April Fool’s Day คือวันอะไร มีต้นกำเนิดจากไหน เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่วันดังกล่าวเวียนมาบรรจบครวรอบอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ"เพื่อไขคำตอบเรื่องดังกล่าวพบว่า


"April Fool's Day" คือวันที่ถูกเรียกว่า "วันเมษาหน้าโง่" ซึ่งจะตรงกับวันที่ 1 เมษายนของทุกปี โดยจะมีการเฉลิมฉลองในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งผู้คนจะเล่นมุกตลก "โกหก" หรือเล่าเรื่องหลอกลวงต่อกัน ตามสำนักพิมพ์หรือสื่อต่างๆ อาจรายงานเรื่องหลอกลวงในวันนี้ และออกมาเฉลยในวันต่อมา 

April Fool’s Day มีที่มายังไง 

  • มีข้อมูลพบว่าการเล่นแกล้งกันในวัน April Fool's Day นั้น เริ่มมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16-19 ในแถบประเทศทางยุโรป เช่น กรีก ฝรั่งเศส ซึ่งบางประเทศเป็นวันหยุดราชการเพราะตรงกับวันเทศกาลดั้งเดิมในท้องถิ่น
  • April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับความเขลาที่เก่าแก่ที่สุด โดยมีหลักฐานจากบันทึกโบราณในตำนานแคนเตอร์บรี ของชอเซอร์ (ค.ศ. 1392) ซึ่งในตำนานแคนเตอร์บรี เล่าว่า สมัยนั้นมีการเขียนบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานแม่ชีและพระ (Nun's Priest's Tale) ซึ่งเรื่องนี้มีการทำสำเนาเอาไว้หลายแผ่น จนเกิดการคัดลอกผิดพลาดเกี่ยวกับการระบุวันที่
  • จากบันทึกเดิมพูดถึง 32 วันหลังเดือนเมษายน นั่นคือคือวันที่ 2 พฤษภาคม แต่ถูกทำสำเนาผิดเป็น 32 วันหลังมีนาคม ซึ่งก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งทำให้ความหมายเปลี่ยนไป พอคนรุ่นหลังๆ มาอ่านบันทึกที่ไม่เหมือนกัน ก็เข้าใจไปว่าตำนานฉบับคัดลอกเป็นเรื่อง "โกหก" ซึ่งก็มีความเชื่อมโยงกับวันที่ 1 เมษายนนั่นเอง
  • มีอีกหนึ่งทฤษฎีเชื่อว่า April Fool's Day มีความเชื่อมโยงกับการกำหนดให้วันที่ 1 มกราคม ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวยุโรปที่เพิ่งเปลี่ยนใหม่ในช่วงศตวรรษที่ 16 นั้น แต่เดิมในช่วงยุคสมัยกลางวันปีใหม่ของชาวยุโรปคือวันที่ 1 เมษายน ต่อมาในปี ค.ศ. 1592 พระสันตปาปาเกรเกอรี่ได้ประกาศใช้ปฏิทินใหม่สำหรับชาวคริสต์ ทำให้วันปีใหม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นวันที่ 1 มกราคม
  • เนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสารที่ล่าช้าในยุคนั้น ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่เชื่อเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว พวกเขายังจัดงานฉลองวันปีใหม่ในวันที่ 1 เมษายนตามเดิม ทำให้คนอื่นพากันเรียกพวกเขาว่า "พวกเมษาหน้าโง่" (April Fools) และพยายามกลั่นแกล้งคนพวกนี้โดยส่งข้อความไปหลอก หรือล่อลวงให้หลงเชื่อเรื่องโกหกทั้งหลายว่าเป็นเรื่องจริง
  • สำหรับเนเธอร์แลนด์มีที่มาของ "April Fool’s Day" แตกต่างไป มีบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1572 เกี่ยวกับชัยชนะของชาวดัตช์ในการยึดเมืองแห่งหนึ่ง เกิดเป็นสุภาษิตว่า Op 1 april verloor Alva zijn bril แปลว่า ในวันที่ 1 เมษายน Alva ทำแว่นตาหาย อันเป็นเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการยึดเมืองบรีเอลล์ ซึ่งดยุคอัลวาเรซ เด โตเลโด (Álvarez de Toledo) ของสเปนพ่ายแพ้

การโกหกในอดีตไม่ถือเป็นเรื่องอันตรายเพราะมีขอบเขตในการเล่นแกล้งกัน แต่ปัจจุบันนี้ถ้าจะเล่นต้องระวัง ถ้าเอาข้อมูลเท็จขึ้นโซเชียล จะอยู่ในอำนาจกฎหมาย พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560