ทำความรู้จัก "ฮีทสโตรก" หลังคร่าชีวิต "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม"

31 มี.ค. 2566 | 02:00 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2566 | 02:37 น.

ทำความรู้จัก "ฮีทสโตรก" หลังคร่าชีวิต "เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม" อาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน กลุ่มไหนที่มีความเสี่ยง วิธีการป้องกันสามารถทำได้อย่างไร ฐานเศรษฐกิจรวบรวมคำตอบไว้ให้แล้ว

ฮีทสโตรกคร่าชีวิต “เอ๋ ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม” อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ และนักธุรกิจชื่อดัง หลังถูกนำตัวส่ง รพ.บุรีรัมย์อย่างเร่งด่วนเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ สาเหตุของภาวะฮีทสโตรกมาจากการต้องอยู่ในอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์

โดยหลังจากนี้จะเคลื่อนร่างไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่บ้านขาว ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ

"ฮีทสโตรก" คืออะไร มีอาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เพื่อไขคำตอบพบว่า

ฮีทสโตรกเป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน 
 

ส่วนอาการของโรคฮีทสโตรกนั้น จะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อย ๆ สูงขึ้น เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้รู้สึกผิดปกติ หน้ามืด ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ซึม สับสน 

นอกจากนี้ฮีทสโตรก ยังมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง หากปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบ ที่รุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

สำหรับกลุ่มเสี่ยงของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ประกอบด้วย 

  • ผู้สูงอายุ 
  • เด็กเล็ก 
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ 
  • ประชาชนทั่วไป 

วิธีการป้องกัน "ฮีทสโตรก"

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ หากสามารถเลี่ยงได้ 
  • ควรเลือกเวลาที่ต้องการทำกิจกรรมในช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน 
  • ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ 
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอจะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้ 
  • หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรมีอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม อุปกรณ์ ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด 
  • การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยง