สมาคมวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ NARIT ชวนประชาชนร่วมชมปรากฎการณ์ธรรมชาติ สุริยุปราคาบางส่วน เหนือฟ้าเมืองไทย ในวันที่ 20 เมษายน 2566 ซึ่งจะสังเกตได้บางพื้นที่ทางภาคใต้ อีสาน และตะวันออก ทั้งนี้ ปรากฎการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันที่ 20 เมษายน 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 10.22 - 11.43 น. คราสบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส เพียงร้อยละ 4 และสังเกตได้เพียงบางพื้นที่เท่านั้น แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ดังนี้
ทั้งนี้ สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาอยู่ในแนวเดียวกัน มีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ อาจบังทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้
สำหรับ สุริยุปราคาบางส่วน เกิดจากโลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ไม่ได้เรียงอยู่ในแนวเดียวกันพอดี ขณะเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วน ทำให้มีเพียงเงามัวของดวงจันทร์ทอดผ่านพื้นผิวโลก ผู้สังเกตบนโลกภายในบริเวณที่เงามัวของดวงจันทร์พาดผ่านจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังเพียงบางส่วนเท่านั้น
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ เป็นสุริยุปราคาแบบผสม (สุริยุปราคาวงแหวนและเต็มดวง) เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/80 ชุดซารอสที่ 129 แนวคราสจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก
ส่วนใหญ่พาดผ่านมหาสมุทร และแผ่นดินบางส่วนที่เป็นเกาะใหญ่ ๆ อาทิ ประเทศออสเตรเลีย ประเทศติมอร์ตะวันออก และประเทศอินโดนีเซีย (เกาะปาปัวและปาปัวตะวันตก) ตั้งแต่เวลา 09:42 - 12:52 น. (ตามเวลาประเทศไทย) การเกิดคราสครั้งนี้ดวงอาทิตย์จะถูกดวงจันทร์บดบังนานที่สุดเพียง 1 นาที 16 วินาที
สุริยุปราคาแบบผสม เป็นสุริยุปราคาที่เกิดขึ้น 2 ประเภทในครั้งเดียว ได้แก่ สุริยุปราคาวงแหวน และสุริยุปราคาเต็มดวง เนื่องจากโลกมีผิวโค้ง ทำให้แต่ละตำแหน่งบนโลกมีระยะห่างถึงดวงจันทร์ไม่เท่ากัน ผู้สังเกตที่อยู่ไกลจากดวงจันทร์จะเห็นเป็นสุริยุปราคาวงแหวน ในขณะที่ผู้สังเกตที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่าจะเห็นเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง
สำหรับประชาชนที่สนใจ ห้ามดูด้วยตาเปล่า แนะนำให้ดูสุริยุปราคาด้วยวิธีการต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.ใช้แว่นสุริยะ - แว่นสุริยะของสมาคมดาราศาสตร์ไทยออกแบบมาเพื่อใช้ดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ
2.ฟิล์มเอกซเรย์ซ้อนกันหลาย ๆ ชั้น ใช้เฉพาะบริเวณที่ไม่มีภาพเท่านั้น
3.หน้ากากเชื่อมโลหะ ใช้เบอร์ 14 ขึ้นไป
4.ใช้กล้องโทรทรรศน์ฉายภาพไปยังฉากรับ (ห้ามมองเข้าไปในกล้องโดยตรงเด็ดขาด)
5.กระดาษเจาะรูบนกระจก - เจาะรูบนกระดาษเป็นรูเล็ก ๆ แล้วปิดทับกระจกเงา สะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังฉากรับ (ระวังแสงสะท้อนเข้าตา)
6.ดูใต้ต้นไม้ - ต้นไม้ทำตัวเป็นกล้องรูเข็มให้ จะฉายภาพดวงอาทิตย์แหว่งๆ ลงพื้น แถมดูใต้ต้นไม้ ก็เย็นสบายไม่ร้อนด้วย
7.ดูรูปคนอื่นถ่าย
นอกจากนี้ ทาง สดร.ได้เตรียมตั้งจุดสังเกตการณ์ "ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วนเหนือฟ้าเมืองไทย" ในวันที่ 20 เมษายน 2566 ไว้ดังนี้
ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา 09.00-12.00 น. (ช่วงเวลาเกิดปรากฏการณ์ 10.31-11.33 น.) จะเห็นดวงอาทิตย์ปรากฏเว้าแหว่งมากที่สุดร้อยละ 1.82 (เวลาประมาณ 11.01 น.)
นอกจากนี้ยังสามารถรับชมถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ผ่านทางเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ที่ https://www.facebook.com/NARITpage ได้อีกทางหนึ่งด้วย