ช่วงเช้า วันที่ 20 เมษายน 2566 จะเกิด “สุริยุปราคาบางส่วน" เหนือฟ้าเมืองไทย สังเกตได้ระหว่างเวลาประมาณ 10:22 - 11:43 น. โดยคราสจะบังมากสุดทางภาคใต้ที่ จ.นราธิวาส (ร้อยละ 4) สุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้ เห็นได้เพียงบางพื้นที่ของประเทศไทยเท่านั้น ได้แก่ 9 จังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล สงขลา พัทลุง ตรัง นครศรีธรรมราช กระบี่) และบางส่วนของจังหวัดตราด อุบลราชธานี และศรีสะเกษ แต่ละพื้นที่ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดไม่เท่ากัน ซึ่งผู้ที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดที่ไม่เห็นสุริยุปราคครั้งนี้ สามารถรับชมผ่านการถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (NARITpage) ได้โดย คลิกที่นี่
นับแต่โบราณกาลมา คนไทยเรามี ความเชื่อ เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือเดิมเรียก “สุริยคราส” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นี้ โดยเรียกว่าเป็น “ราหูอมดวงอาทิตย์”
คำว่า "คราส" แปลว่า กิน มีความเชื่อเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ว่า เกิดจากเทพองค์หนึ่งชื่อ "ราหู" เกิดความโกรธที่พระอาทิตย์และพระจันทร์ ซึ่งเป็นเทพเช่นกัน ไปฟ้องร้องต่อพระอิศวรว่า พระราหูกระทำผิดกฎของสวรรค์ คือแอบไปดื่มน้ำอมฤตที่ทำให้ชีวิตเป็นอมตะ พระอิศวรจึงลงโทษให้ตัดลำตัวราหูออกเป็น 2 ท่อน พระราหูจึงทำการแก้แค้นโดยการไล่ "อม" พระอาทิตย์ และพระจันทร์
ดังนั้น เมื่อเกิดสุริยุปราคา (สุริยคราส) หรือจันทรุปราคา (จันทรคราส) ครั้งใด ผู้คนก็จะช่วยกันตีเกราะเคาะไม้ ตีปี๊บ หรือส่งเสียงดังๆ เพื่อขับไล่พระราหูให้ตกใจและปล่อยหรือคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์เสีย นอกจากนี้ คนไทยในสมัยโบราณยังเชื่ออีกว่า สุริยุปราคา จะนำความโชคไม่ดี หรือลางร้ายมาสู่โลกเช่นเดียวกับการมาของดาวหาง
ด้วยความที่ยังไม่เข้าใจถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติและสาเหตุการเกิดที่แท้จริง ทำให้ผู้คนสมัยโบราณหวาดกลัวสุริยุปราคา โดยเฉพาะเมื่อเกิดเต็มดวง เพราะท้องฟ้าจะค่อยๆมืดมัว นกกาบินกลับรังแม้ยังเป็นเวลากลางวัน จากนั้นก็ค่อยๆมืดมิด และเมื่อยังไม่เข้าใจถึงสาเหตุของการเกิดสุริยุปราคา ก็เกิดความเกรงกลัวนึกคิดว่าเป็นการลงโทษจากเทพเจ้า สิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน หรือไปทางไสยศาสตร์
คนจีน ในสมัยโบราณคิดว่า สุริยุปราคา หรือ จันทรุปราคา เกิดจาก “มังกร” ไล่เขมือบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ จึงต้องจุดประทัดและตีกลองไล่ เพื่อให้มังกรคายดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ออกมาเช่นกัน คล้ายๆกับกรณีพระราหูของไทย
ส่วนใน อินเดีย ที่มีความเชื่อเกี่ยวกับ "ราหู" เช่นกัน เรียกปรากฏการณ์สุริยุปราคา ว่า Surya Grahan ถือว่าสุริยุปราคาจะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง หรือการเริ่มต้น แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทางลบด้วย เป็นช่วงเวลาแห่งโอกาสและความท้าทายที่มาโดยไม่คาดคิด จึงเป็นช่วงเวลาสำหรับการตั้งเป้าหมายหรือการตั้งปณิธาน
ในช่วงที่เกิดคราส ชาวอินเดียจะหลีกเลี่ยงการกิน-ดื่มอาหาร เพราะพลังงานลบจากสุริยุปราคาอาจทำให้อาหารและเครื่องดื่มปนเปื้อนโชคร้าย เมื่อกินเข้าไปก็ไม่ดีต่อร่างกาย นอกจากนี้ ยังเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะพลังงานลบจะมีความรุนแรงในที่โล่งแจ้งนอกบ้าน ดังนั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ในบ้านกัน ระหว่างนั้นบางครอบครัวก็จะสวดมนต์ จุดโคมตะเกียง หรือถวายสักการะแด่เทพเจ้าเพื่อปัดเป่าโชคร้ายหรือพลังงานลบไม่ให้มาแผ้วพาน
และเมื่อคราสผ่านพ้นไปแล้ว (พระอาทิตย์ถูกคายออกมาแล้ว) ก็มักจะไปอาบน้ำชำระร่างกาย เพื่อชะล้างพลังงานลบออกไป
สุริยุปราคากับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ในประวัติศาสตร์โบราณกาลเคยมีบันทึกเล่าถึงการทำสงคราม กับปรากฏการณ์สุริยุปราคาหรือสุริยคราสที่เลื่องลือที่สุด คือ เมื่อครั้งเกิดสุริยคราสเต็มดวงระหว่างเกิดสงครามเปอร์เซียที่นานยืดเยื้อถึง 6ปี ระหว่างชาวลิเดียกับชาวเมเดส ครั้งนั้นท้องฟ้าสว่างไสวในตอนกลางวันกลายเป็นกลางคืนไปชั่วขณะหนึ่ง เป็นเหตุให้ทั้งสองฝ่ายตื่นตะลึง และด้วยความยำเกรงในอำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่แสดงอิทธิฤทธิ์ในบัดดล จึงตกลงยุติสงครามด้วยการเจรจาสันติภาพ
ในครั้งนั้นเทลิส (Thales) นักดาราศาสตร์และนักปรัชญาชาวกรีกโบราณได้ทำนายการเกิดสุริยุปราคาไว้ก่อนแล้ว แต่ทั้งสองชนชาติอาจไม่รู้ถึงการทำนายดังกล่าว
อีกครั้งเป็นสมัยพระเจ้าหลุยส์ จักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่แห่งดินแดนยุโรป พระองค์ถึงกับพิศวงงงงวยเมื่อทอดพระเนตรเห็นปรากฏการณ์บนฟากฟ้าที่ดวงอาทิตย์มืดดับทั้งดวงนานถึง 5 นาทีในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 1383 และหลังจากนั้นพระองค์ก็สิ้นพระชนม์ เล่ากันว่าคงเป็นเพราะความตกพระทัย ซึ่งต่อมายังเกิดศึกแย่งชิงบัลลังก์ยาวนานถึง 3 ปี มายุติลงด้วยสนธิสัญญาสันติภาพ (Treaty of Verdun) ที่แบ่งยุโรปออกเป็นดินแดน 3 ประเทศ ที่เรารู้จักกันทุกวันนี้คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี นั่นเอง
ความเชื่อแบบนี้ดำเนินมาเป็นเวลานานนับร้อย ๆ ปี จนกระทั่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการค้นคว้าและศึกษาถึงการเกิดปรากฏการณ์นี้ และได้อธิบายให้เห็นว่าสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเป็นเพียงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติตามปรกติ และมนุษย์ยังสามารถคำนวณได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดสุริยุปราคาและจันทรุปราคาเมื่อใด ที่ไหน และกินเวลานานเพียงใด
ขอบคุณข้อมูลจาก เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ /วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี/ เว็บไซต์ AstroTalk