ถกเดือดเพจดังโพสต์ภาพคนดำน้ำถูก"ปลาวัวไททัน"กัด ฆ่าทำเมนูเด็ด

29 เม.ย. 2566 | 02:32 น.
อัปเดตล่าสุด :29 เม.ย. 2566 | 03:15 น.

ถกเดือดโซเชียลหลังเพจดังโพสต์ภาพคนดำน้ำแล้วถูก "ปลาวัวไททัน"กัด ถึงขึ้นต้องฆ่าตาย ยอมไม่ได้ เตรียมจับทำเมนูเด็ด คอมเมนต์สนั่นบอกไปดำน้ำถิ่นเขาเองแล้วไปทำร้ายเขาอีก พร้อมทำความรู้จักปลาวัวไททันกัน

กลายเป็นประเด็นเดือดบนโลกโซเชียล หลังจากที่เพจขยะมรสุมᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ ได้โพสต์รูปภาพของผู้ใช้บัญชีรายหนึ่ง โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า 

 

"ดำน้ำอยู่เฉยๆ ไม่เคยยุ่งกันน้าาา แต่มากัดเราก่อนน้าาาา -ึงตาย!!! "ปลาวัวไททัน (Trigger Fish) " ตัวนี้เป็นตำนานที่เกาะร้านเป็ด ดุมาก!!! กัดลูกทัวร์ทั้ง Freedive และ Scuba หลายคนแล้ว วันนี้โดนกับตัวเอง ยอมไม่ได้และเพื่อป้องกันมันไปโจมตีนักดำน้ำท่านอื่น " -ูจัดให้เน้นๆ ทำเมนูอะไรเดี๋ยวมาอัปเดต"

ถกเดือดเพจดังโพสต์ภาพคนดำน้ำถูก\"ปลาวัวไททัน\"กัด ฆ่าทำเมนูเด็ด

หลังจากโพสต์ลงไปก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมากถึงประเด็นดังกล่าว บ้างก็บอกว่า "ปลากระโดดมางับบนบกหรอคะ ลงไปในน้ำเองนิคะ นั่นบ้านเขาค่ะพี่ เขามีสิทธิ์ปกป้องแหล่งที่อยู่เขานะคะ" , "ไปดำน้ำถิ่นเขาแล้วฆ่าเขา ก็ไม่ควรไปดำน้ำที่ไหนเลยนะ" เป็นต้น

ขณะที่อีกหลายคนแชร์โพสต์ดังกล่าวและแสดงความกับภาพที่โพสต์เป็นจำนวนมาก

ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า

การท่องเที่ยวทางทะเลคือการลงไปในทะเล ลงไปในบ้านของพวกเธอ มิใช่บ้านของพวกเรา 

ในบ้านทุกบ้านมีกติกา พฤติกรรมก้าวร้าวของสัตว์น้ำมีที่มา มีการหวงรัง/หวงพื้นที่ มีการดูแลปกป้องที่อยู่และให้กำเนิดลูกน้อย

หากเราไม่สามารถรับกติกาในบ้านคนอื่นเราไม่ควรไปเยี่ยมเยือนบ้านของพวกเธอ ยังมีที่อื่นๆ อีกมากที่มนุษย์เป็นคนกำหนดกติกา เราเลือกไปในที่เหล่านั้นได้

ทราบว่าเจ้าหน้าที่/ผู้เกี่ยวข้องรู้เรื่องแล้ว หวังว่าจะมีการดำเนินการที่เหมาะสมในไม่ช้าครับ

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

  • ทำความรู้จัก ปลาวัวไททัน 

ปลาวัวไททันเป็นประเภทปลาที่พบได้ทั่วไปในสภาพแวดล้อมทางทะเลรอบเกาะเต่าพบได้ที่จุดดำน้ำตื้นเช่น กองหินขาวและกองหินทวินไปจนถึงจุดดำน้ำที่ลึกกว่าอย่างเรือหลวงสัตกูดหรือกองหินชุมพร

ลักษณะและพฤติกรรมของปลาวัวไททันเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์ปลาวัว มีขนาดความยาวถึง 75 ซม. โดยที่เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้สองเท่า
ด้านหน้าของครีบหลังซึ่งอยู่เหนือศีรษะสามารถตรึงกับรอยแตกในแนวปะการังได้
เมื่อครีบหลังที่มีหนามตั้งตรงอาจมีลักษณะคล้ายกับไกปืนซึ่งเป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษ Trigger Fish และเป็นระบบป้องกันตัวที่ใช้เพื่อเตือนสิ่งที่อยู่ใกล้ว่ากำลังคุกคามพวกมัน

ปลาวัวไททันเป็นปลาในแนวปะการังที่ขยันทำงาน พวกมันกัดกิ่งก้านปะการัง ทุบเปลือกหอยเม่นและพลิกหินต่างๆ ที่พวกมันพบ พฤติกรรมของปลาวัวไททันในการกวนพื้นทรายก้นทะเลทำให้มีปลากลุ่มเล็กๆ มีแหล่งอาหารจากการตามพวกมันไป

ปลาวัวไททัน หรือ ปลาวัวอำมหิต

ปลาวัวไททันซื่อสัตย์และหวงอาณาเขตมาก โดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์ที่พวกมันจะคอยดูแลไข่ เพศเมียคอยปกป้องและจะไล่ทุกสิ่งที่เข้ามาใกล้

ปลาวัวไททันเพศผู้เริ่มหาคู่ผสมพันธุ์ด้วยการเต้นรำโดยใช้พฤติกรรมการจับคู่ที่สลับซับซ้อน

หลังจากที่เพศเมียตัดสินใจหาคู่ครอง พวกมันก็จะผูกสัมพันธ์กันด้วยการสร้างรังสำหรับลูกปลาในอนาคต

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย ระบุว่า ปลาวัวไททัน หรือ ปลาวัวอำมหิต หรือ ปลาวัวหน้าลาย (อังกฤษ: Titan triggerfish, Giant triggerfish, Bluefin filefish; ชื่อวิทยาศาสตร์: Balistoides viridescens) ปลาทะเลชนิดหนึ่ง ในวงศ์ปลาวัว (Balistidae)

มีรูปร่างที่บึกบึนกว่าปลาวัวชนิดอื่น ปากมีขนาดใหญ่มีเขี้ยวสั้นคมอยู่ภายใน ครีบหางปลายตัดมน ข้างแก้มมีสีน้ำตาลส้ม มีปื้นสีคล้ำคาดบริเวณหน้า ปากมีคาดสีดำสลับขาว ด้านหลังสีน้ำตาลอ่อน ข้างลำตัวมีสีคล้ำลายสีน้ำตาลเข้ม ครีบสีส้มมีขอบสีคล้ำ ครีบหางสีส้มขอบสีดำ

มีความยาวเต็มที่ประมาณ 40 เซนติเมตร พบยาวที่สุดได้ถึง 75 เซนติเมตร นับเป็นปลาวัวที่มีขนาดใหญ่ที่สุดชนิดหนึ่ง และเป็นปลาวัวที่มีอุปนิสัยดุร้ายก้าวร้าวมาก โดยเฉพาะตัวผู้ในฤดูกาลดูแลฟักไข่ จะพุ่งเข้ามาทำร้ายด้วยการกัดสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนไหวเข้ามาใกล้รังหรือถิ่นที่อยู่อาศัย ไม่เว้นแม้แต่สิ่งมีชีวิตที่ใหญ่กว่า คือ มนุษย์ จนเป็นที่เลื่องลือและรู้จักกันดีในหมู่นักประดาน้ำ 

เป็นปลาที่พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในแนวปะการังในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่น ของอินโด-แปซิฟิก ในน่านน้ำไทยเป็นปลาที่พบได้บ่อยและพบได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ฝั่งอันดามัน และอ่าวไทย กินหอยเม่น และสัตว์น้ำหน้าดินเป็นอาหาร เป็นปลาที่ใช้บริโภคได้ แต่บางตัวอาจจะมีสารพิษซิวกัวเทรา