ยูเนสโกรับรอง “โคราชจีโอพาร์ค” เป็นอุทยานธรณีโลก

20 พ.ค. 2566 | 03:12 น.
อัปเดตล่าสุด :20 พ.ค. 2566 | 03:15 น.

นายกฯ ยินดียูเนสโกรับรอง โคราชจีโอพาร์ค เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ส่งผลทำให้จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองที่ 4 ของโลกที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ที่อยู่ในจังหวัดเดียวกัน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) รับรองให้ "โคราชจีโอพาร์ค" (KHORAT Geopark) จังหวัดนครราชสีมา เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2566 

ทั้งนี้ ถือเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้ไทยสร้างอีกประวัติศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมา เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎ หรือ ทริปเปิลคราวน์ (Triple Crown) ถือเป็นเมืองที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก ในจังหวัดเดียวกัน 

โคราชดินแดน 3 มงกุฎยูเนสโก 

ยูเนสโกได้ลงพื้นที่ตรวจประเมิน เก็บข้อมูลภาคสนาม ใน 17 แหล่งสำคัญของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 (216th session of the Executive Board) ณ องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส มีมติรับรองให้ โคราชจีโอพาร์ค เป็น อุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) 

ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในเมืองประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่ง 3 มงกุฎทางธรรมชาติของยูเนสโก (The UNESCO Triple Crown of Nature) ถือเป็นประเทศที่ 4 ของโลก ต่อจากอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่ใน 1 จังหวัด จะมีโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของยูเนสโก ครบทั้ง 3 โปรแกรม ได้แก่ 

  1. มรดกโลก (กลุ่มป่าดงพญาเย็นเขาใหญ่) 
  2. มนุษย์และชีวมณฑล (พื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช) 
  3. จีโอพาร์คโลก (โคราชจีโอพาร์ค) 

โคราชจีโอพาร์ค แตกต่างจากที่อื่น

โคราชจีโอพาร์ค มีความแตกต่างจากจีโอพาร์คโลก ที่มีอยู่ 177 แห่งทั่วโลก คือ เป็นดินแดนแห่งเควสตา และฟอสซิล (Cuesta & Fossil Land) ที่เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ภูมิศาสตร์บริเวณลุ่มน้ำลำตะคองตอนกลางถึงตอนล่าง โดยพัฒนาต่อยอดและขยายจากสถาบันวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ที่ดำเนินโครงการในระยะแรก นับตั้งแต่ปี 2537

“นายกรัฐมนตรีชื่นชมผลการรับรอง และภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จังหวัดนครราชสีมา ได้รับการรับรองนี้ สะท้อนถึงความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ธรรมชาติ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้คงอยู่ของไทย พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นอีกแหล่งศึกษาที่สำคัญให้กับผู้ที่สนใจ โดยเฉพาะซากดึกดำบรรพ์ที่มีคุณค่าเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ ทั้งนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์อีกหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาด้วยแล้ว”