เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

21 เม.ย. 2566 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :21 เม.ย. 2566 | 04:35 น.

เชียงใหม่ พร้อมร่วมประมูลสิทธิ์เจ้าภาพ จัดการประชุมนานาชาติเมืองสร้างสรรค์โลกยูเนสโก ที่ตุรกีปลายปี 2566 นี้ หนุนยุทธศาสตร์ล้านนาสร้างสรรค์ระเบียงเศรษฐกิจเหนือ

เมื่อ 10 เม.ย. 2566 จังหวัดเชียงใหม่จัดการประชุมคณะทำงานจัดทำเอกสารยื่นประมูลสิทธิ์ การเป็นเจ้าภาพจัดงานไประชุมนานาชาติเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ประจำปี พ.ศ. 2568 (UCCN Annual Conference 2025) มีนายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ รับมอบหมายจากผู้ว่าฯ เป็นประธานการประชุม

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม อาทิ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่, สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ สร้างสรรค์ (CEA), เทศบาลนครเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และผู้แทนจากคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน

เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

โดยเป็นการประชุมต่อเนื่อง หลังจากที่ได้รับอนุมัติในหลักการจากผู้ว่าไราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในการร่วมมือกับทีเส็บและ CEA เพื่อดึงงานสำคัญระดับนานาชาติเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ไมซ์ซิตี้ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อจัดทำข้อมูล

ครั้งนี้เป็นการหารือเตรียม ความพร้อมและแนวทางการจัดทำเอกสารประมูลสิทธิ์ แบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานในคณะทำงาน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณในด้านต่างๆ ทั้งการจัดเตรียมเอกสาร การเดินทางไปนำเสนอความพร้อม ณ ประเทศตุรกี การเตรียมงานและการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการจัดงานในปี 2568 หากได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพ

เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

โดยทีเส็บและ CEA จะร่วมกันจัดทำเอกสารประมูลสิทธิ์ (Bid Book) ตามระเบียบและเงื่อนไขของยูเนสโก โดยการสนับสนุนข้อมูลและภาพจากจังหวัดเชียงใหม่และคณะวิจิตรศิลป์ ที่การดำเนินงานในนามมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่เองยินดีที่จะเข้าร่วมประมูลสิทธิ์ในฐานะเมืองเจ้าภาพ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ

นอกจากนี้ยังได้จัดเตรียมงบประมาณสำหรับผู้บริหารของเมือง ในการเดินทางไปนำเสนอความพร้อมของจังหวัดเชียงใหม่ ที่จะเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมวิชาการนานาชาติเมืองสร้างสรรค์โลกประจำปี 2568 ที่ประเทศตุรกี ในเดือนกันยายน 2566 นี้

เชียงใหม่เสนอตัว ‘ยูเนสโก’ เจ้าภาพประชุมเมืองสร้างสรรค์โลก

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค เพื่อกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ลดความเหลื่อมลํ้าทางรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน และเสริมความมั่นคงพื้นที่ชายแดน รวมถึงเพิ่มความสามารถการแข่งขันและเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้าน ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ

โดยพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ (Northern Economic Corridor: NEC- Creative LANNA) ประกอบด้วยพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์หลักของประเทศ อย่างยั่งยืน

โดยพื้นที่ 4 จังหวัดที่ต่อเนื่องกันดังกล่าว มีศักยภาพและโอกาสขับเคลื่อนสู่เป้าหมายเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ ประกอบด้วย

1. โครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงทั้งระหว่างจังหวัดและกับภายนอก ด้านบนต่อเนื่องกับอนุภูมิภาคลุ่มนํ้าโขงตอนบน (เมียนมา-ลาว-จีนตอนใต้) ผ่านเส้นทาง R3A ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ลงมาเชื่อมกับ ภาคกลางของประเทศ ในพื้นที่มีโครงข่ายคมนาคมครบ ทั้งทางราง ถนน และเครื่องบิน

2. พื้นที่ประวัติศาสตร์อุดมด้วยทุนทางวัฒนธรรม เป็นมรดกวัฒนธรรมล้านนา ที่หลอมรวมกันหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ มีบุคลากรที่สามารถต่อยอดภูมิปัญญา สร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์หลากมิติและมูลค่าเพิ่ม

3. เป็นศูนย์รวมผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีเอกลักษณ์และหลากหลายนับ 10,000 ผลิตภัณฑ์ คิดเป็นกว่า 52% ของพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด

4. มีภาคท่องเที่ยวและบริการที่โดดเด่นมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่

5. สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างกิจกรรมสร้างสรรค์ มีนิเวศสร้าง สรรค์เกิดขึ้นในพื้นที่ คือ มีสถาบันการศึกษา สถาบันฝึกอาชีพพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างกำลังคนด้านงานสร้างสรรค์ปีละกว่า 2,000 คน มีบุคลากรผู้สร้างสรรค์งาน ตลอดจนคนในพื้นที่ภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ถิ่น

ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนา มุ่งสร้าง Creative Ecosystem ให้เอื้อต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ทั้งปรับภูมิทัศน์ เพิ่มพื้นที่พัฒนาย่านสร้างสรรค์ พัฒนาระบบสื่อสารโทรมคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวให้ทุกคนเข้าถึง ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมืองให้สะดวกปลอดภัย

ส่วนการพัฒนาสินค้าและบริการสร้างสรรค์ ตั้งเป้า 15 สาขา รองรับการขยายตัวอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ โดยระยะแรก เน้นกลุ่มศิลปะต้นฉบับเชิงสร้างสรรค์ เช่น หัตถกรรม งานฝีมือ ดนตรี การแสดง ทัศนศิลป์ เพื่อยกระดับให้แข่งกับสากล ควบคู่กับส่งเสริม พัฒนากลุ่ม Creative Content/Media เพื่อต่อยอดกลุ่มแรกให้กระจายสู่สาธารณะ และเหนี่ยวนำให้เกิดการพัฒนากลุ่มโฆษณา ออกแบบ บริการด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย แพทย์แผนไทย

ระยะต่อไปต่อยอดกลุ่มหลังให้เป็นผู้นำการผลิตและแข่งขันในตลาดโลก ส่งเสริมการสร้างแบรนด์ประเทศไทยขึ้นมาเอง ส่งเสริมด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ โดยพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งรวมคนสร้างสรรค์ประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการสร้างสรรค์ของพื้นที่ให้เป็นที่รู้จักระดับโลก รวมถึงร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับเมืองอื่นๆ 

 

นภาพร ขัติยะ/รายงาน

หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23-26 เมษายน พ.ศ.2566