การศึกษาเผยให้เห็นการใช้แรงงานบังคับกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การวิจัยเชิงสำรวจโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) พบว่าแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้าน ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย มีสภาพการทำงานที่ย่ำแย่ พร้อมชี้ให้เห็นว่างานบ้านเป็นงานที่จำเป็นต้องใช้ทักษะ
รายงานวิจัยฉบับใหม่ของ ILO พบว่า การปฎิเสธไม่ให้สิทธิแรงงานและการคุ้มครองทางสังคมกับแรงงานข้ามชาตินำไปสู่การแสวงหาประโยชน์และการบังคับใช้แรงงานในตลาดแรงงานที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อค้นพบจากการศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นว่า แรงงานทำงานบ้านจำเป็นต้องใช้ทักษะต่างๆ ในการทำงาน และเสนอให้มีการยอมรับทักษะโดยสะท้อนในรูปการกำหนดค่าจ้าง และชั่วโมงการทำงาน เช่นเดียวกับงานประเภทอื่น ๆ
การสำรวจนี้ได้สัมภาษณ์แรงงานทำงานบ้านจำนวน 1,201 คน ระหว่างเดือน กรกฎาคม - กันยายน พ.ศ. 2565 ในประเทศมาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ผลการสำรวจพบว่า ร้อยละ 29 ของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านซึ่งเป็นผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศมาเลเซียมีสภาพการจ้างงานที่เข้าข่ายคำนิยามเชิงสถิติขององค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานบังคับ
เช่นเดียวกัน พบว่าแรงงานทำงานบ้านซึ่งเป็นผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศสิงคโปร์ที่เข้าข่ายนิยามนี้มีจำนวนร้อยละ 7 และจำนวนร้อยละ 4 สำหรับประเทศไทย ทั้งนี้ ตัวชี้วัดที่แสดงถึงความไม่สมัครใจในการทำงาน ได้แก่ การที่แรงงานไม่สามารถลาออกจากงานได้ ต้องทำงานเกินกว่าที่ตกลงไว้ และต้องทำงานโดยไม่ได้รับค่าล่วงเวลา และอื่นๆ
ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานและการให้ค่าจ้างต่ำเป็นการปฎิบัติที่ทำกันทั่วไปกับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านในทุกประเทศที่สำรวจ ในทั้งสามประเทศ พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วแรงงานทำงานบ้านผู้ตอบแบบสำรวจทำงานเกินกว่าชั่วโมงการทำงานที่กำหนดไว้ในกฎหมายสำหรับแรงงานประเภทอื่นๆ
เมื่อพิจารณาเทียบกับชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์ตามมาตรฐานสากลแล้ว ไม่มีแรงงานทำงานบ้านผู้ตอบแบบสอบถามรายใดในการสำรวจได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
“งานบ้านเป็นงานที่สำคัญที่สุดงานหนึ่งในสังคมของเรา แต่กลับได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุด ซึ่งเราไม่สามารถยอมรับได้อีกต่อไป” แอนนา เองบลอม (Anna Engblom) หัวหน้าที่ปรึกษาด้านวิชาการ โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (TRIANGLE In ASEAN Programme) ซึ่งทำการศึกษานี้ กล่าว
การศึกษานี้ได้ท้าทายวาทกรรมที่ว่างานบ้านเป็นงานทีไร้ทักษะ หรือมีทักษะต่ำ โดยพบว่าแรงงานทำงานบ้านต้องใช้ทักษะแรงงานระดับกลางอย่างสม่ำเสมอในการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อทำงานให้การดูแล ทักษะเหล่านี้ถือเป็นทักษะระดับ 2 ตามการจัดประเภทอาชีพตามมาตรฐานสากล (ISCO) ซึ่งต้องใช้ทักษะทางเทคนิคมากขึ้น และ ต้องใช้ทักษะในเชิงบูรณาการ
เช่น ทักษะการสื่อสารและความสามารถในการพูดภาษาท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ระดับทักษะเหล่านี้ไม่ได้รับการยอมรับเพื่อประกอบการพิจารณากำหนดค่าจ้างหรือกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับสภาพการทำงานอื่นๆ ของแรงงานทำงานบ้าน
ข้อค้นพบเพิ่มเติมจากการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าอัตราการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมของแรงงานข้ามชาติอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ ซึ่งเป็นสถานการณ์ทีจะซ้ำเติมการโดดเดี่ยวของ แรงงาน และความเปราะบางต่อการถูกบังคับใช้แรงงาน หลายรัฐยังจำกัดสิทธิของแรงงานทำงานบ้านในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม
ด้วยอุปสรรคทางกฎหมายและทางสังคมแรงงานทำงานบ้านยังคงถูกจำกัดความสามารถในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และในบางกรณี ไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานในประเทศที่ทำการศึกษา
“แรงงานทำงานบ้านต้องได้รับการยอมรับว่าเป็นลูกจ้างที่มีทักษะ โดยต้องสะท้อนออกมาในรูปของค่าจ้างและสภาพการจ้างงาน เช่นเดียวกัน ช่องทางการย้ายถิ่นควรยอมรับความเป็นงานมีทักษะของงานบ้านด้วย บ่อยครั้งที่แรงงานข้ามชาติทำงานบ้านถูกจองจำให้ให้อยู่กับการจ้างงานที่มีข้อจำกัดคับแคบ
การเปิดโอกาสให้แรงงานสามารถเปลี่ยนนายจ้างหรือเจรจาต่อรองเงื่อนไขสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ดังเช่นแรงงานข้ามชาติที่มีทักษะ ในงานอื่นๆ สามารถทำได้ จะทำให้โอกาสที่จะทำให้แรงงานถูกแสวงหาประโยชน์ลดลงอย่างมาก” เองบลอม กล่าวเสริม
ข้อเสนอแนะจากการศึกษานี้ยกตัวอย่างเช่นการให้สัตยาบันและการปฏิบัติตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานทำงานบ้าน พ.ศ. 2554 (ฉบับที่ 189) อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานบังคับ พ.ศ. 2472 (ฉบับที่ 29) และพิธีสาร พ.ศ. 2557
ส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยแรงงานบังคับ ฉบับที่ 29 พ.ศ. 2472 เพื่อประกันว่าแรงงานทำงานบ้านจะต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิ ซึ่งอย่างน้อยที่สุดแล้ว จะต้อง เท่าเทียมกับแรงงานประเภทอื่นๆ
ทั้งในเชิงกฎหมายและ ในภาคปฏิบัติ กรณีการบังคับใช้แรงงานควรต้องมีการดำเนินคดีอาญาและการเปลี่ยนแปลงนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแรงงงานบังคับขึ้น ควรมีการสำรวจโอกาสที่จะทำให้ทักษะของแรงงานทำงานบ้านได้รับการยอมรับ และช่องทางการย้ายถิ่นควรมีความยืดหยุ่น เข้าถึงได้ และให้สิทธิตามหลักสากล
รายงานวิจัยเชิงสำรวจ ทักษะ ลักษณะการทำงาน และความเสี่ยงต่อการถูกบังคับใช้แรงงานของแรงงานข้ามชาติที่ทำงานบ้านในภูมิภาคอาเซียน จัดทำโดยโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ (TRIANGLE In ASEAN Programme) ได้รับการสนับสนุนโดยกระทรวงการต่างประเทศและการค้าออสเตรเลีย และ กระทรวงการต่างประเทศ รัฐบาลแคนาดา (Global Affairs Canada)