ผู้จัดการมรดก คือใคร ทำหน้าที่อะไร ที่นี่มีคำตอบ  

16 มิ.ย. 2566 | 08:20 น.
อัปเดตล่าสุด :16 มิ.ย. 2566 | 08:20 น.

เปิดความหมายของคำว่า "ผู้จัดการมรดก" เขาคือใคร มีอำนาจ หน้าที่และมีความสำคัญอย่างไรในกองมรดกบ้าง รวบรวมมาไว้ให้แล้ว คลิกอ่านรายละเอียดสรุปให้แบบเข้าใจได้ง่าย ๆ ที่นี่  

"ผู้จัดการมรดก" คำ ๆ นี้เราได้ยินกันแบบรัว ๆ ในช่วงหลายวันที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีประเด็นร้อนกรณีที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีวี โดยระบุว่า ตนเป็นผู้จัดการมรดกนั้น หลายคนอาจยังไม่ทราบว่า ผู้จัดการมรดก เป็นใคร ตำแหน่งนี้มีหน้าที่อย่างไรบ้าง

"ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทำความเข้าใจกับคำ ๆ นี้กันให้มากขึ้น

ผู้จัดการมรดก มีที่มา 2 ทาง 

  1. มีพินัยกรรมระบุไว้ให้เป็นผู้จัดการมรดก
  2. ถ้าไม่มีพินัยกรรมก็คือ ทายาทโดยธรรมร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้ง 

คุณสมบัติผู้จัดการมรดก

  • บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์
  • ไม่เป็นคนวิกลจริต หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  • ไม่เป็นคนล้มละลาย

หน้าที่ของ "ผู้จัดการมรดก" 

"ผู้จัดการมรดก" มีหน้าที่รวบรวม ทำบัญชีและแบ่งปันทรัพย์สินซึ่งเป็นมรดกของผู้ตายให้ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย และที่สำคัญผู้จัดการมรดก ต้องเป็นบุคคลซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็น "ผู้จัดการมรดก" 

ผู้จัดการมรดก มีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปและมีหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งให้ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ตลอดจนชำระหนี้สินของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้

ทำบัญชีทรัพย์มรดกและทำรายการแสดงบัญชีการจัดการและแบ่งมรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใด ๆ ที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719, มาตรา 1728 และมาตรา 1729 ระบุไว้ว่า หากผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเบียดบังเป็นของตน หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดกในแก่ทายาท 

ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกเพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำตามหน้าที่หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้และอาจมีความผิดอาญามีโทษจำคุกได้ 

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

  • ตาย
  • ลาออกซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาลแต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ
  • ศาลมีคำสั่งถอน
  • ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
  • การจัดการมรดกสิ้นสุดลงและเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

ที่มา กระทรวงยุติธรรม