จากกรณีปมการหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล ที่รายการ ข่าว 3 มิติ ได้เปิดเผยคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นของ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV พบว่าข้อเท็จจริงในคลิปและเอกสารบันทึกการประชุมไม่ตรงกัน รวมถึงปัญหาที่พบในเอกสารงบการเงิน ไตรมาส 1/2566
วันนี้ (วันที่ 15 มิถุนายน 2566) ล่าสุด บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัทฯ โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท นั้น บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้
1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 โคยในการประชุมฯ ดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท
ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ
ในการประชุมฯ ดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม
บริษัทจึงได้สรุปสาระสำคัญของคำถามและคำตอบในระหว่างการประชุมฯ เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับและชัดเจนโดยมิได้จดบันทึกการประชุมฯ เป็นคำต่อคำ ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า “ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้...”
สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่าบริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด
2. ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจ การค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบและลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์
ในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 เช่นกัน
3. ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น บริษัทขอเรียนให้ทราบว่างบดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัทและยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้และ ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ
บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุมฯ การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทเป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมาย ทุกประการ
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 66 รายการ ‘ข่าว 3 มิติ’ ได้เปิดคลิปวิดีโอบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี บริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ระบุวันที่ 26 เม.ย. 66
เนื้อหาในคลิปดังกล่าวเป็นบันทึกการประชุมระหว่างที่ นายคิมห์ สิริทวีชัย ประธานที่ประชุม ได้เปิดให้ผู้ถือหุ้นซักถาม จากนั้นได้อ่านคำถามของผู้ถือหุ้นรายหนึ่งว่า “มีคำถามมาจากคุณภานุวัฒน์ ขวัญยืน มาด้วยตัวเองนะครับ มีการดำเนินกิจการเกี่ยวกับสื่อหรือทีวีไหมครับ”
ในคลิป นายคิมห์ ตอบว่า “ตอนนี้บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใดๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ”
ขณะที่ เอกสารบันทึกการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) วันเดียวกัน คือวันที่ 26 เม.ย. 66 ได้บันทึกคำถามของ นายภานุวัฒน์ ขวัญยืน ระบุว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่”
ปรากฏว่าคำตอบที่บันทึกไว้ คือ “ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงิน และยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”