โลกร้อนขึ้น 1 องศา ทำให้ฝนตกหนักขึ้น 15% โครงสร้างพื้นฐานที่มีอาจรับไม่ไหว

01 ก.ค. 2566 | 03:14 น.
อัพเดตล่าสุด :01 ก.ค. 2566 | 03:36 น.

การที่โลกอุณหภูมิร้อนขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ฝนตกหนักขึ้น 15% นักวิจัยเตือนรัฐบาลประเทศต่างๆควรพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น

 

รายงานในวารสารเนเจอร์ (Nature) เผยแพร่ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า อุณหภูมิโลก ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มความหนาแน่นของ ฝนตกหนัก ขึ้น 15% ที่ระดับความสูงมากกว่า 2,000 เมตร และความสูงที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1,000 เมตร จะเพิ่ม ปริมาณน้ำฝน อีก 1% หรืออีกนัยหนึ่งคือ หาก โลกร้อน ขึ้น 3 องศาเซลเซียส เหนือระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม มันจะมีความเป็นไปได้ของการเกิดอุทกภัยที่ “รุนแรงกว่าเดิม” เกือบครึ่งหนึ่ง

นายโมฮัมเหม็ด ออมบาดี นักวิจัยและผู้เขียนนำของรายงานการวิจัยชิ้นนี้ กล่าวเตือนว่า การค้นพบดังกล่าว ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความเปราะบางของโครงสร้างพื้นฐาน ที่ไม่ได้ออกแบบมาให้ทนต่อเหตุการณ์น้ำท่วมรุนแรง ขณะที่รายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (ไอพีซีซี) ระบุเสริมว่า จากแนวโน้มในปัจจุบัน โลกจะร้อนขึ้น 2.8 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษนี้

ฝนตกหนักในพื้นที่สูงบนเขาทำให้เกิดดินโคลนถล่มสร้างความเสียหายต่อหมู่บ้านและโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในพื้นที่เบื้องล่างในเมืองอาตามิ ประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2564

งานศึกษาชิ้นใหม่ ซึ่งอ้างอิงจากข้อมูลในช่วง 70 ปีที่ผ่านมา และการประมาณการตามแบบจำลองสภาพอากาศ พบว่า มีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ๆ 2 ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการมีฝนตกหนักบนพื้นที่สูงในโลกที่อุณหภูมิร้อนขึ้น

  • ประการแรกคือ การมีน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 1 องศาเซลเซียส จะเพิ่มปริมาณความชื้นในชั้นบรรยากาศได้ถึง 7%
  • ประการที่สอง เป็นปัจจัยที่น่าประหลาดใจยิ่งกว่า เพราะนักวิจัยต้องดูว่าเหตุการณ์นั้นเป็นฝนตกหนักหรือหิมะตกหนัก เนื่องจากน้ำฝนทำให้เกิดการไหลบ่าอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่ความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุทกภัย ดินถล่ม และการพังทลายของดิน

พื้นที่ภูเขาและที่ราบน้ำท่วมถึงที่อยู่ติดกัน มีแนวโน้มที่จะประสบกับผลกระทบรุนแรงที่สุดจากฝนตกหนัก ยกตัวอย่างบริเวณในและรอบ ๆ เทือกเขาหิมาลัย และเทือกเขาฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ควรเตรียมแผนการปรับตัวเพื่อรับมือ

เหตุการณ์น้ำท่วมในเมืองสิกขิม ซึ่งตั้งอยู่บนที่ราบเนินสูงท่ามกลางเทือกเขาหิมาลัย

“พวกเราจำเป็นต้องพิจารณาถึงการเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ฝนตกหนัก ในการออกแบบและสร้างเขื่อน ทางหลวง ทางรถไฟ และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ หากเราต้องการความมั่นใจว่า โครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นจะคงอยู่อย่างยั่งยืนในสภาพอากาศของโลกที่ร้อนขึ้น ๆ เรื่อยๆ” นายออมบาดี นักวิจัยผู้เขียนรายงานชิ้นนี้กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง