"Dow - กรมทะเล" ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม 13.38 ไร่สร้างคาร์บอนเครดิต

30 มิ.ย. 2566 | 09:23 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 09:24 น.

"Dow - กรมทะเล" ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม 13.38 ไร่สร้างคาร์บอนเครดิต เดินหน้าร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนไทย มุ่งแก้วิกฤตโลกร้อนและลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน เพิ่มพื้นที่สีเขียวสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และจังหวัดระยอง โดยปลูกป่าชายเลนเพิ่มเติมอีก 13.38 ไร่ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการ ดาวและภาคีป่าชายเลนประเทศไทย หรือ Dow & Thailand Mangrove Alliance โดยตั้งเป้าร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนไทยอย่างมีส่วนร่วม เพื่อแก้วิกฤตโลกร้อนและลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน นำร่องป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากป่าเลนและสร้างมูลค่าเพิ่มจากคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม 

"Dow และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการอนุรักษ์ป่าชายเลนซึ่งดูดซับและกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 4เท่า จึงได้ร่วมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่เคยถูกบุกรุกเพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง เพื่อสร้างประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต"

โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนและคนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการเพาะกล้าไม้ การปลูกพันธุ์ไม้หลากหลายที่เหมาะสมกับภูมิทัศน์ รวมถึงการดูแลให้ต้นไม้เติบโต เพื่อได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตตลอด 10 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิตจำนวน 300,000 ไร่ ที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมปลูกป่าและสร้างการมีส่วนร่วม 

Dow ผนึก กรมทะเล ปลูกป่าชายเลนเพิ่ม 13.38 ไร่สร้างคาร์บอนเครดิต

รวมทั้งเพิ่มรายได้ของชุมชน โดยจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายของประเทศไทยที่จะมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ภายในหรือก่อนปี ค.ศ. 2065 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

อย่างไรก็ดี Dow มีการปลูกป่าชายเลนทุกปีอย่างต่อเนื่องมากว่า 15 ปีในประเทศไทย โดยคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการฯ จะมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) โดยจะมีการดูแลต่อเนื่องถึง 10 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านคาร์บอนเครดิตและด้านสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

นายอภิชัย เอกวนากุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า ทช. ได้ตั้งเป้าฟื้นฟูป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต 300,000 ไร่ ภายใน 10 ปี ซึ่งตอนนี้เรื่องคาร์บอนเครดิตในไทยถือเป็นวงจรใหญ่กว่าเดิมมาก มีเอกชนหลายแห่งต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เพราะตลาดคาร์บอนเครดิตขายได้ สร้างรายได้ 

นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง กล่าวว่า ระยองเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีความสมบูรณ์ของผืนป่าชายเลนเป็นอย่างยิ่ง โดยมีป่าชายเลนอยู่บนพื้นที่ตามแนวชายฝั่งกว่า 30,000 ไร่ และได้เตรียมพื้นที่ในการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตร่วม 2,000 ไร่ 

กลไกคาร์บอนเครดิตมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนให้เข้ามาดูแลรักษาและฟื้นฟูทรัพยากร และทำให้เกิดการสร้างงานในท้องที่ด้วย ระยองเป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เป็นฐานการผลิตทั้งอุตสาหกรรม มีอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและยังเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ 

การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและแหล่งดูดซับคาร์บอนรวมไปถึงพื้นที่การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ มีประโยชน์ไม่เฉพาะแต่คนระยองเพียงเท่านั้นแต่ยังมีประโยชน์ต่อโลกด้วย