ย้อนไทม์ไลน์ "สะพานถล่ม" จากจุดเริ่มต้นโครงการ พบขยายเวลา 2 รอบ

11 ก.ค. 2566 | 01:44 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2566 | 02:17 น.

ย้อนไทม์ไลน์ "สะพานถล่ม" จากจุดเริ่มต้นโครงการ พบขยายเวลา 2 รอบ เผยเป็นของโปรเจ็กต์ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 16,64,550,000 บาท กำหนดระยะเวลาในการก่อสร้าง 900 วัน

"สะพานถล่ม" เหตุการณ์น่าสะพรึงเกิดขึ้นเมื่อช่วงเย็นของวันที่ 10 ก.ค. 66 เป็นเหตุทำให้มีทั้งผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 

โดยสะพานดังกล่าวเป็นทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มลงมา เหตุเกิดที่บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขาลาดกระบัง ปากซอยทางเข้า สน.จรเข้น้อยแขวงทับยาว เขตลาดกระบัง

ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปย้อนไล่เรียงไทม์ไลน์ของสะพานดังกล่าวก่อนที่จะกลายเป็น "สะพานถล่ม" นับตั้งแต่เริ่มโครงการดังกล่าว 

สำหรับโครงการดังกล่าวนั้น เป็นโปรเจ็กต์ของสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ด้วยงบประมาณการก่อสร้าง 16,64,550,000 บาท (เงินกทม. 100%) มีระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน

ไทม์ไลน์สะพานถล่ม 

  • 23 กุมภาพันธ์ 2564 : เริ่มสัญญา
  • 27 ตุลาคม 2565 : สัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) มีการขยายสัญญา เนื่องจากสถานการณ์โควิด
     
  • -18 มกราคม 2566 : สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย ยื่นกระทู้สดต่อสภา กทม. ที่ อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง ในสมัยประชุมสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 3) ประจำปีพุทธศักราช 2566 เรื่อง ความคืบหน้าการดำเนินการก่อสร้างสะพานยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง โดยมีเนื้อหาสำคัญ ประกอบด้วย 

ย้อนไทม์ไลน์ "สะพานถล่ม" จากจุดเริ่มต้นโครงการ พบขยายเวลา 2 รอบ

1. ตั้งคำถามถึงความไม่คืบหน้า ทั้งยังไม่มี ผอ.เขต หรือเจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา หรือรับรู้

2. วัสดุอุปกรณ์วางกีดขวางทางจราจร ทำให้การจราจรติดขัดมากยิ่งขึ้น สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน

3. งบประมาณสูง เฉลี่ยกิโลเมตรละ 495 ล้านบาท

วันนั้นนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลุกขึ้นตอบกระทู้สดดังกล่าว ว่า มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างทางยกระดับ จากแบบเดิมที่เป็นการก่อสร้าง girder box segment ซึ่งติดตั้งแบบหล่อคอนกรีตและเทในที่ ให้เป็น precast box segment โดยหล่อจากโรงงาน และขนย้ายมาติดตั้งบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง และจะแจ้งให้ผู้รับจ้างเพิ่มแรงงาน วัสดุ และเครื่องจักรเพื่อเร่งรัดงานก่อสร้างให้เร็วขึ้น และลดผลกระทบในระหว่างการก่อสร้าง

ส่วนแนวทางการลดผลกระทบมีอยู่ 3 ด้าน ได้แก่ การจราจร จัดให้มีการกั้นพื้นที่ก่อสร้างบริเวณเกาะกลางถนน ให้เหลือช่องจราจรอย่างน้อย 2 ช่องต่อทิศทาง รวมถึงมีป้ายแนะนำ ป้ายเตือนอุบัติเหตุ และไฟแสงสว่างตลอดทั้งโครงการ และทางข้ามทางม้าลายจะมีการตีเส้นให้ชัดเจน พร้อมติดตั้งไฟเตือน จัดตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 รวมทั้ง PM 10 ตรวจวัดควันดำเครื่องจักรที่ใช้ในงานก่อสร้างไม่ให้เกินมาตรฐาน งดการก่อสร้างที่ทำให้เกิดเสียงดังในช่วงเวลากลางคืน
 

  • 18 กุมภาพันธ์ 2566 : ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ทำกิจกรรมผู้ว่าฯสัญจรเขตลาดกระบัง โดยในช่วงบ่ายลงพื้นที่หลายจุด รวมถึงจุดก่อสร้างสะพานยกระดับบริเวณถนนลาดกระบัง-หลวงแพ่ง พบพื้นที่ว่างซึ่งน่าจะมีการคืนพื้นผิวจราจร
  • 24 พฤษภาคม 2566 : สัญญาแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2)
  • 10 กรกฎาคม 2566 : เกิดเหตุทรุดตัว มีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บ
  • สิงหาคม 2566 : เวลาสิ้นสุดสัญญา (เดิม)
  • ธันวาคม 2567 : ช่วงเวลาที่คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เกิดเหตุ "สะพานถล่ม" ก่อน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะเริ่มทำสัญญาก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังนั้น เคยมีการยืนเรื่องคัดค้านการประมูล โดยเหตุการณ์ดังกล่าวมาจากการที่สำนักการโยธา กทม. ประกาศประกวดราคาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง รวมงานการไฟฟ้านครหลวง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ซึ่งกิจการร่วมค้าธาราวัญนภา เสนอราคาต่ำสุดเป็นเงินทั้งสิ้น 1,938.3 ล้านบาท แยกเป็นงานในส่วนของ กทม. 1,664.55 ล้านบาท และงานของการไฟฟ้านครหลวง 273.75 ล้านบาทนั้น 

ตอนนั้นไม่สามารถลงนามสัญญาได้ เนื่องจากบริษัท โชคดีวิศวภัณฑ์ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าร่วมประกวดราคา ยื่นเรื่องร้องคัดค้าน เนื่องจากกิจการร่วมค้าธาราวัญนภา ขาดคุณสมบัติ