นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าวเหตุการณ์โครงสร้างสะพานทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบัง ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดเหตุโครงสร้างสะพานวิบัติ ว่า โครงการดังกล่าว กิจการร่วมค้า ธาราวัญ-นภา เป็นผู้รับจ้าง สัญญาเลขที่ สนย.11/2564 ช่วงเวลาก่อสร้างสัญญา กุมภาพันธ์ 2564 ถึง 11 สิงหาคม 2566 (ได้รับการช่วยเหลือตามมาตรการช่วยเหลือโควิด ค่าปรับ ร้อยละ 0 ถึงวันที่ 17 ธันวาคม 2567) ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน วงเงินตามสัญญา 1,664.55 ล้านบาท
ลักษณะโครงการ ระยะทางรวมประมาณ 3,500 ม. ก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจร ก่อสร้างปรับปรุงสะพาน ค.ส.ล. ข้ามคลองหนองปรือ 1 แห่ง ก่อสร้างระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง จราจรสงเคราะห์ และอื่นๆ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เวลา 17:40 น. บริเวณหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท. ถนนหลวงแพ่ง เขตลาดกระบัง ซึ่งเกิดจากโครงสร้างสะพาน (Box Segment) วิบัติ ขณะดึงลวดอัดแรงส่งผลให้ Launching Truss เสียสมดุล และล้มพับทับโครงสร้างสะพานเสียหาย 1 ช่วงสะพาน ระหว่าง โครงสร้างที่ 83 และ 84 ทำให้ชิ้นส่วนสะพาน และ Truss กีดขวางช่องจราจรฝั่งขาเข้าทั้ง 2 ช่องจราจร
“สถานการณ์เมื่อคืนเวลาประมาณ 00.00 น. ได้สั่งการให้เตรียมรื้อถอนก็พาบริษัทผู้รับเหมาเข้ามา ซึ่งมีอยู่ 3 ส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้รับเหมาหลัก ผู้รับเหมาทำ Truss หรือเรียกว่า Launcher และผู้รับเหมาที่ดึงลวด รวมทั้งหน่วยบรรเทาสาธารณภัยเข้าไปปูพรมตรวจอีกครั้งหนึ่ง ให้มั่นใจก่อนว่าไม่มีใครติดอยู่ข้างล่าง”
ส่วนการดำเนินการใช้วิธียกเครนโดยเอาเครน 200 ตัน 3 ตัว มายกชิ้นส่วน Truss ด้านบนก่อน ชิ้นส่วนหนักประมาณ 7 ตัน 4 ชิ้น เมื่อเช้าเริ่มยกเวลาประมาณ 07.00 น. และจะทยอยยกไปคาดว่าวันนี้น่าจะแล้วเสร็จ ซึ่งในการรื้อถอนต้องระวังว่าสภาพที่ไม่เสถียร หากรื้อถอนแล้วอาจจะมีน้ำหนักที่เอาออก แล้วทำให้เกิดการเสียสมดุลอาจมีการหล่นลงมาอีก ต้องมีการค้ำยันให้ดีก่อนต้องทำในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
นายชัชชาติ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มอบหมายสำนักการโยธาดูแลเรื่องการรื้อถอนโดยเป็นผู้กำกับดูแลผู้รับเหมา จากนั้นต้องประเมินสภาพโครงสร้างและการดำเนินโครงการต่อ ผู้อำนวยการเขตดูแลเรื่องการจราจร เนื่องจากปัจจุบันมีการปิดการจราจรทั้ง 2 ทาง รวมทั้งดูแลคนในพื้นที่เพราะยังมีบ้านบางหลังที่ไฟเข้าไม่ถึง หมู่บ้านสัมมากรที่อยู่หน้าปั๊มก็ไม่สามารถเอารถเข้าออกได้ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดูแลในพื้นที่ กรณีอาจจะมีเหตุเพลิงไหม้เนื่องจากมีปั๊มน้ำมันอยู่ใกล้ๆ กรณีอาจจะพบผู้บาดเจ็บต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง โรงพยาบาลลาดกระบังดูแลผู้บาดเจ็บ
“ตอนนี้ขอเคลียร์พื้นที่ให้เรียบร้อยก่อน โดยตั้งเป้าเปิดการจราจรภายใน 3 วัน หลังจากนั้นคงมีขั้นตอนทางกฎหมายที่ต้องดำเนินการต่อไป ส่วนโครงการต้องระงับก่อสร้างจนกว่าจะมีแผนการก่อสร้างที่รับได้”
นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เสาที่หักคือตัวที่ 83 และ 84 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ Launcher ที่เป็นตัวรับน้ำหนักโครงสร้างสะพาน (Box Segment) เพื่อเรียงต่อกัน และร้อยสลิง ระหว่างการเกิดเหตุการทำงานของตัว Launcher มีการพลิก หรืออาจเกิดการไม่สมดุลตรงนี้ก็อาจทำให้เกิดเหตุ จะได้วิเคราะห์สาเหตุเบื้องลึกอีกครั้งโดยร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ
ส่วนที่มีข่าวว่า กทม. ไปสั่งให้เปลี่ยนวิธีการก่อสร้าง เรียนชี้แจงว่า ในรูปแบบของการประกวดราคาในครั้งนี้ สำนักการโยธาใช้เป็นรูปแบบของการหล่อโครงสร้างในพื้นที่แต่ได้เปิด TOR ไว้ว่า สามารถเสนอเป็นรูปแบบหล่อสำเร็จก็ได้ ซึ่งทางผู้รับจ้างในช่วงต้นก็ทำการก่อสร้างเป็นรูปแบบหล่อในพื้นที่ แต่เนื่องวิธีนี้ค่อนข้างเก่าและมีผลกระทบต่อการจราจร ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนานและประกอบกับระยะเวลาการก่อสร้างของผู้รับจ้างล่าช้า ผู้รับจ้างจึงขอเปลี่ยนเป็นการหล่อสำเร็จเพื่อยกไปติดตั้งในสถานที่ก่อสร้าง ซึ่งเป็นวิธีการก่อสร้างทั่วไป โดยทำเรื่องขออนุญาตมาที่สำนักการโยธาเมื่อเดือนกันยายน 2565 หลังจากการตรวจสอบก็มีการพิจารณาแบบเมื่อเดือนตุลาคม 2565
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้เสียชีวิตในพื้นที่เกิดเหตุ 1 ราย เสียชีวิตที่โรงพยาบาล 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งบาดเจ็บมากและบาดเจ็บเล็กน้อย 12 ราย รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 และโรงพยาบาลลาดกระบัง ขณะนี้มีผู้ป่วยกลับบ้านไปบ้างแล้วและมีผู้ป่วยที่ยังอยู่ในโรงพยาบาล ในขณะเดียวกันมี 2 รายที่บาดเจ็บแล้วขอส่งตัวจากโรงพยาบาลลาดกระบัง ไปโรงพยาบาลหัวเฉียว และโรงพยาบาลพุทธโสธร อยู่ในระหว่างการรักษาพยาบาลทั้ง 2 ราย พร้อมกันนี้ได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่าพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวกรุณารับผู้ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิตเป็นคนไข้ในพระราชูปถัมภ์