รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กระทรวงคมนาคม แจ้งการจัดส่งจดหมายเตือนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass สำหรับผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติที่ไม่มีการใช้งานเกิน 1 ปี โดยได้เริ่มทยอยดำเนินการจัดส่งจดหมายเตือนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว ตั้งแต่เดือนกันยายน 2566
ทั้งนี้กทพ.ได้เปิดให้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติ และส่งมอบบัตร Easy Pass พร้อมอุปกรณ์ให้ผู้ใช้บริการ โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าประกันบัตรในการสมัครใช้บริการ โดย กทพ. รับภาระต้นทุนค่าอุปกรณ์บัตร Easy Pass มาตั้งแต่ ปี 2555 และได้คืนค่าประกันให้ผู้ใช้ Easy Pass ไปเป็นที่เรียบร้อย
รายงานข่าวจากกทพ.กล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้ใช้บริการจำนวนหนึ่ง ที่ไม่นำบัตร Easy Pass ไปใช้ผ่านทางพิเศษ หรือหยุดการใช้งานต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาเกิน 1 ปี ทั้งยังไม่มีการติดต่อเพื่อยกเลิกการใช้งานบัตร Easy Pass ส่งผลให้ กทพ. มีต้นทุนในการจัดหาบัตร Easy Pass เพิ่มสูงขึ้น และเกิดค่าใช้จ่ายในการจัดการ และดูแลรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษ ในบัตร Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหว
ในปัจจุบัน กทพ. พบว่ามีบัตร Easy Pass ที่ไม่มีการเคลื่อนไหวเกิน 1 ปี คิดเป็น 25 % ของจำนวนบัตร Easy Pass ทั้งหมดในระบบ กทพ. จึงมีความจำเป็นต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass สำหรับผู้ใช้บริการระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติที่ไม่มีการใช้งานเกิน 1 ปี นับแต่วันที่ประกาศการทางพิเศษแห่งประเทศไทยนี้ใช้บังคับ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2565) ซึ่งจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการรักษาบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass ในอัตราเดือนละ 25 บาท หรือไม่เกินมูลค่าคงเหลือในบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางพิเศษในบัตร Easy Pass และหากถูกหักค่าธรรมเนียมเป็น 0 บาท กทพ. จะดำเนินการยกเลิกการใช้งานและปิดบัญชีเงินสำรองค่าผ่านทางบัตร Easy Pass
อย่างไรก็ตาม กทพ. แนะนำให้ผู้ใช้บัตร Easy Pass ขึ้นใช้ทางพิเศษ หรือเติมเงินสำรองค่าผ่านทางเพียงปีละ 1 ครั้ง เพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าดูแลบัญชี และขอเชิญชวนผู้ใช้ทางพิเศษอัพเดตบัตร Easy Pass เดิม ให้เป็น Easy Pass Plus (+) เพื่อให้สามารถใช้ได้ทั้งระบบ M - Flow ในอนาคต