กทพ.เปิดซาวด์เสียงเอกชน ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 แห่ง

29 ส.ค. 2566 | 04:47 น.
อัปเดตล่าสุด :29 ส.ค. 2566 | 05:58 น.

"กทพ." เปิดรับฟังความเห็นเอกชน นำร่องพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 แห่ง เล็งเปิดประมูลภายในปี 67 ดึงเอกชนร่วมทุนPPP-เช่าพื้นที่ มั่นใจคืนทุน 3-4 ปี คาดเปิดให้บริการปี 70

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษ แห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นของภาคเอกชน ภายใต้โครงการประเมินความสนใจของนักลงทุน (Market Sounding) ในการพัฒนาพื้นที่ในเขต ทางพิเศษที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ ว่า กทพ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานธุรกิจทางพิเศษและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรที่คับคั่งให้มีการเคลื่อนไหวที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการเดินทางแก่ประชาชน

กทพ.เปิดซาวด์เสียงเอกชน ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 แห่ง

 ที่ผ่านมาการก่อสร้างทางพิเศษส่วนใหญ่จะเป็นทางยกระดับเกือบทั้งหมด ทำให้มีพื้นที่ใต้ทางยกระดับตลอดแนว ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า เบื้องต้น กทพ. ได้จัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาพื้นที่ในเขตทางพิเศษ และใช้ระบบภูมิสารสนเทศเก็บข้อมูลและจำแนกการใช้พื้นที่ โดยครอบคลุมที่ดินของหน่วยงานอื่น ๆ พื้นที่ใช้ประโยชน์ และพื้นที่ว่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาและบริหารจัดการพื้นที่อย่างเหมาะสมและคุ้มค่าต่อไป

"โครงการนี้ถือเป็น Challenge ให้กทพ. เนื่องจากในปัจจุบันกทพ.มีพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เหลือประมาณ 1,500 ไร่ จากเดิมมีพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่ง กทพ.ได้นำมาใช้เพื่อสาธารณประโยชน์แล้ว 37%และใช้เชิงพาณิชย์ 9% จึงยังมีพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาได้อีกมากกว่า 53 % โดยมีเป้าหมายเพิ่มการนำพื้นที่ศักยภาพมาดำเนินการพัฒนาเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ควบคู่สาธารณประโยชน์ไม่น้อยกว่า10 %ต่อปี"

กทพ.เปิดซาวด์เสียงเอกชน ลุยประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ 17 แห่ง

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้แล้วเสร็จ เบื้องต้นกทพ.จะสรุปความคิดเห็นของเอกชน โดยจะเสนอต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้ต่อเมื่อมูลค่าของโครงการเกิน 100 ล้านบาท

ทั้งนี้กทพ.จะนำร่องเปิดประมูลบนพื้นที่บริเวณในเมือง จำนวน 17 แห่ง ที่มีศักยภาพก่อน เช่นสีลม,เพลินจิต,วัชรพล,อโศก ฯลฯ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเปิดประมูลได้ภายในปี 2567 โดยใช้รูปแบบการลงทุนมีหลายรูปแบบ เช่น การเปิดประมูลเช่าพื้นที่ สัญญาสัมปทาน 3 ปี ,การเปิดประมูลในรูปแบบ PPP สัญญาณสัมปทาน 5-20 ปี ระยะเวลาการคืนทุน 3-4 ปี ทั้งนี้การประมูลทุกโครงการฯมีเงื่อนไขว่า การก่อสร้างต้องไม่กระทบต่อทรัพย์สินของกทพ.เสียหาย คาดว่าทั้ง 17 พื้นที่ จะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2570

 

สำหรับการกำหนดพื้นที่ศักยภาพที่สามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 พื้นที่ มีขนาดพื้นที่ 338 ไร่ ที่ดิน 1,144 แปลง โดยเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนา 17 พื้นที่ ที่ดิน 530 แปลง ส่วนพื้นที่ที่ยังมีผู้เช่ารายย่อย จำนวน 8 พื้นที่ ที่ดิน 614 แปลง ซึ่งพร้อมที่จะพัฒนาภายในปี 2570-2571 โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพื้นที่ศักยภาพในเมือง จำนวน 7 พื้นที่ ขนาดพื้นที่ 3-10 ไร่ รวมที่ดิน 385 แปลง ประกอบด้วย 1. พื้นที่ในเขตทางพิเศษถนนสีลม ศักยภาพชานเมือง 2.สำนักงานอโศก 3.สุขาภิบาล 5 4. หัวถนนรามอินทรา 5.บริเวณถนนสุขุมวิท (เพลินจิต) 6.อนุสาวรีย์ชัยฯ 7.ปากซอยวัชรพล

 

ส่วนกลุ่มพื้นที่ชานเมือง จำนวน 8 พื้นที่ ขนาดพื้นที่ 3-200ไร่ รวมที่ดิน 547 แปลง ประกอบด้วย 1.พื้นที่ในเขตทางพิเศษบริเวณศรีสมาน 2.จุดตัดถนนเทพรักษ์ด้านทิศใต้ 3.จุดตัดถนนเทพารักษ์ด้านทิศใต้ 4.จุดตัดถนนศรีนครินทร์ด้านทิศใต้ 5.บริเวณกม.16 6.พิพิธภัณฑ์ช้างเอราวัณ 7.จตุโชติ-วงแหวนรอบนอกฯ 8.ต่างระดับบางปะอิน

 

นอกจากนี้กลุ่มพื้นที่เตรียมพร้อมรองรับสู่การติดตั้ง EV Station จำนวน 10 พื้นที่ ขนาดที่ 60-2,200 ตร.ว. ที่ดิน 212 แปลง ประกอบด้วย 1.พระราม 6 ซอย 20 2.หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางรามคำแหง 3.งามวงศ์วาน 21 4.พระราม9-อโศก 5.หน้าด่านเก็บค่าผ่านทางสุรวงศ์ 6.จุดกลับรถเซ็นทรัลพระราม 3 7.งามวงศ์วาน 23 8.บริเวณหลังด้านคลองประปา 9.จุดกลับรถลาดพร้าวทาวน์อินทาวน์ 10.บริเวณถนนวัชรพลใต้ทางพิเศษฉลองรัฐ