"สทนช."รุกบริหารจัดการลุ่มน้ำมูลตอนกลางรับภาวะ"เอลนีโญ"

23 ก.ย. 2566 | 14:15 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ย. 2566 | 14:15 น.

"สทนช."รุกบริหารจัดการลุ่มน้ำมูลตอนกลางรับภาวะ"เอลนีโญ" เดินหน้าพิจารณาแหล่งน้ำ ระบบประปาที่ยังไม่ทั่วถึง ตามแผนการจัดการน้ำ 20 ปี ด้านความมั่นคงทางด้านน้ำ จัดหาแหล่งน้ำเพิ่มเติมเป็นน้ำต้นทุนในการรองรับ

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช.ได้ดำเนินการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งซ้ำซาก หลังจากลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ และทะเลสาบทุ่งกุลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำ และมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ของจังหวัดสุรินทร์

ทั้งนี้พบว่าในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลางมี 3 ปัญหา คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำในบางพื้นที่ รวมไปถึงจังหวัดร้อยเอ็ด และมหาสารคามบางส่วน รวมถึงได้พิจารณาแหล่งน้ำ ระบบประปาที่ยังไม่ทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับแผนการจัดการน้ำ 20 ปี โดยเฉพาะเรื่องความมั่นคงทางด้านน้ำซึ่งจะมีแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในการรองรับพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง

รวมถึงป้องกันอุทกภัย และที่สำคัญในพื้นที่ลุ่มริมน้ำมูล ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมน้ำล้นตลิ่ง เวลามีน้ำหลากจึงต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ และการฟื้นฟูอนุรักษ์ดูแลระบบนิเวศน์ ที่บางพื้นที่ยังมีปัญหาเรื่องป่าเสื่อมโทรมและบางลุ่มน้ำที่มีปัญหาคุณภาพน้ำบางช่วง ซึ่งต้องมีการดูแล 

สทนช.รุกบริหารจัดการลุ่มน้ำมูลตอนกลางรับภาวะเอลนีโญ

นอกจากนี้จะมีระบบตรวจวัดระดับน้ำในการแจ้งเตือนภัยให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบเวลาเกิดอุทกภัย เพื่ออพยพขึ้นที่สูงได้ทันที ซึ่งบริษัท ธารา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้มีการศึกษาแผนการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูลตอนกลาง รวมกับ สทนช.เพื่อแก้ปัญหาทั้งระบบ

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าจังหวัดสุรินทร์มีปริมาณน้ำมากในบางพื้นที่ บางพื้นที่ก็มีปริมาณน้ำน้อย โดยเฉพาะทุ่งกุลาที่มีปัญหาแหล่งเก็บกักน้ำน้อย และในลำน้ำมูลเวลามีน้ำหลากมามากก็ไม่มีที่เก็บเพียงพอทั้งนี้ในฤดูแล้งจึงงอาจมีปัญหา เรื่องของปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอได้ 

"สทนช. จะดำเนินการในลักษณะแก้มลิงสำหรับทุ่งกุลา ในลำน้ำพลับพลาที่ไหลผ่านทุ่งกุลา และในพื้นที่ของทุ่งกุลาเองจะมีการขุดลอกคูคลองปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมไปถึงการผันน้ำเชื่อมโยงลำน้ำมูลและลำน้ำพลับพลา เพื่อเก็บน้ำในฤดูแล้งและลดปัญหาอุทกภัย"

สทนช.รุกบริหารจัดการลุ่มน้ำมูลตอนกลางรับภาวะเอลนีโญ

สำหรับโครงการทะเลสาบทุ่งกุลา ต.ไพรเขลา อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์ เป็นโครงการต้นแบบของการพัฒนาแก้มลิง ใช้สำหรับรองรับน้ำจากโครงการผันน้ำเพื่อการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ดอนและพื้นที่ห่างไกลแหล่งน้ำในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกพื้นที่ทำเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำไว้ใช้แก้ปัญหาความแห้งแล้ง ตั้งแต่ปี 2550 โดยขุดพื้นที่กว่า 750 ไร่ 

จัดเป็นแก้มลิงขนาดใหญ่ที่รายล้อมไปด้วยไร่นา สามารถเก็บกักน้ำได้ 1.9 แสน ลบ.ม. ปัจจุบันสามารถพัฒนาเป็นแหล่งรองรับน้ำเชื่อมโยงกับโครงการผันน้ำจากลุ่มน้ำมูลตอนกลางได้เป็นอย่างดี นอกจากจะช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการทำเกษตร ยังมีการพัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวนมาก

มีกิจกรรมทางน้ำไว้รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาเป็นโครงการนิคมการเกษตรข้าวหอมมะลิอินทรีย์ จำหน่ายสินค้าทุ่งกุลาร้องไห้ นำรายได้เข้าชุมชนอีกทางหนึ่ง โดย สทนช.จะใช้โครงการทะเลสาบทุ่งกุลานี้เป็นต้นแบบนำไปขยายผลเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำมูลตอนกลาง พัฒนาศักยภาพพื้นที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

ขณะที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสนง เป็นแหล่งเก็บน้ำที่สำคัญของจังหวัด สุรินทร์ เพื่อเป็นแหล่งน้ำดิบอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนเมือง ซึ่งเป็นการบริหารจัดการร่วมกันกับอ่างเก็บน้ำอำปึล ซึ่งก็มีปริมาณน้ำพอสมควร แต่ต้องไม่ประมาทกับสถานการณ์เอลนิโญไปอีก 2 ปี จึงต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างดี ไม่เฉพาะช่วงฤดูแล้งปีนี้อย่างเดียว แนวโน้มปริมาณฝนปีหน้าจะน้อย ดังนั้นจึงต้องการให้ประชาชน รณรงค์ การประหยัดน้ำ และทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจการบริหารน้ำรองรับเอลนีโญที่จะไปถึงปี 67

"สทนช. ใน 100 วันจะต้องมีโครงการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาให้กับประชาชน ทำให้เป็นรูปธรรม เช่น การขุดลอกแหล่งน้ำ การกำจัดวัชพืช เพื่อลดการสูญเสียน้ำระดับหนึ่ง และการขับเคลื่อนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง การสร้างบ่อบาดาลเพิ่มเติม เพื่อนำน้ำมาใช้ โดยยังมีโครงการอื่นให้รัฐบาลพิจารณาส่งเสริม ที่สำคัญ ที่สทนช. ขอให้ประชาชนงดทำนาปรัง หรือนาปีต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการเสนอกับรัฐบาลว่าต้องมีอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกร"