ครม. เคาะงบ สปสช. ปี 2567 วงเงินกว่า 2.17 แสนล้านบาท

07 พ.ย. 2566 | 08:05 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 08:05 น.

ครม. ไฟเขียวงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินรวมกว่า 2.17 แสนล้านบาท ครอบคลุมทั้งค่าบริการและค่ารักษาพยาบาล

7 พฤศจิกายน 2566 นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณโดยอนุมัติงบประมาณสำหรับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินรวม 217,628,959,600 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ค่าบริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จำนวน 47,671,000 คน วงเงิน 165,525,153,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 3,922,585,500 บาท คิดเป็นร้อยละ 2.43 คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,472.24 บาทต่อผู้มีสิทธิซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร

ค่าบริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ ประกอบด้วย ค่าบริการรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ วงเงิน 3,413,391,000 บาท และค่าบริการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี วงเงิน 603,704,700 บาท รวมวงเงิน 4,017,095,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 38,617,200 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 0.97

ค่าบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง วงเงิน 12,807,298,600 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,855,123,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 28.69

ค่าบริการควบคุม ป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (DM/HT และจิตเวชเรื้อรังในชุมชน) ประกอบด้วย งบบริการควบคุมความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง วงเงิน 1,123,989,700 บาท และงบบริการผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน วงเงิน 73,626,000 บาท รวมวงเงิน 1,197,615,700 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 126,140,900 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11.77

ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัยและพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 1,490,288,000 บาท 

ค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิ ประกอบด้วย

(1) บริการด้วยทีมแพทย์ประจำครอบครัว วงเงิน 237,445,700 บาท

(2) บริการที่ร้านยา วงเงิน 199,810,000 บาท

(3) บริการตรวจทางห้องปฏิบัติการนอกโรงพยาบาล วงเงิน 722,870,300 บาท

(4) บริการสาธารณสุขระบบทางไกล วงเงิน 865,776,200 บาท

(5) บริการด้านยาและเวชภัณฑ์สำหรับการจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังผู้ป่วยที่บ้าน วงเงิน 32,945,500 บาท

(6) บริการทันตกรรมเคลื่อนที่ วงเงิน 3,940,200 บาท รวมวงเงิน 2,062,787,900 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1,873,933,600 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 992.26

ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วย ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วงเงิน 2,550,601,000 บาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จํานวน 221,399,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 7.99

ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน วงเงิน 2,760,554,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 1,494,908,000 บาท 

ค่าบริการสาธารณสุขร่วมกับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด วงเงิน 530,712,000 บาท 

เงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้รับบริการและผู้ให้บริการที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการ วงเงิน 642,808,300 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 205,472,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46.98

ค่าบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค สำหรับการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลและครอบครัว สำหรับคนไทยทุกคนทุกสิทธิ จำนวน 66,339,000 คน วงเงิน 24,044,045,400 บาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 2,662,938,300 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 12.45 ซึ่งครอบคลุมค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนค่าตอบแทนบุคลากร
   
ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณบริหารงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วงเงิน 2,086,558,800 บาท นั้น ครม.มอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้ตามความจำเป็น เหมาะสม ประหยัดและสอดคล้องกับภารกิจการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า