นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ประกาศขยายเวลาเปิดจองตั๋วล่วงหน้า 90 วัน จากเดิมสามารถจองล่วงหน้าได้ 30 วัน โดยนำร่องเฉพาะขบวนรถด่วนพิเศษ CNR (ขบวนพรีเมี่ยม) จำนวน 8 ขบวน ได้แก่ ขบวนรถด่วนพิเศษอตราวิถี 9/10 กรุงเทพอภิวัฒน์-เชียงใหม่-กรุงเทพอภิวัฒน์ (สายเหนือ)
ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัตนา 23/24 กรุงเทพอภิวัฒน์-อุบลราชธานี-กรุงเทพอภิวัฒน์ (สายตะวันออกเอียงเหนือ) ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา 25/26 กรุงเทพอภิวัฒน์-หนองคาย-กรุงเทพอภิวัฒน์ (สายตะวันออกเฉียงเหนือ) ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ 31/32 กรุงเทพอภิวัฒน์-ชุมทางหาดใหญ่-กรุงเทพอภิวัฒน์ (สายใต้) เริ่มให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป ซึ่งจะมีการปรับรูปแบบการจองตั๋วรถไฟล่วงหน้า โดยต้องคำนวณระยะทาง ซึ่งสร้างความสับสนให้กับประชาชนนั้น
ทั้งนี้กระทรวงฯ ขอชี้แจงว่าไม่ว่าผู้โดยสารจะเดินทางในระยะใกล้หรือไกล หากอยู่ในเส้นทางของ 8 ขบวนดังกล่าว สามารถจองตั๋วล่วงหน้าใน 90 วัน ซึ่งหลังจากเปิดให้จองในวันแรก พบว่ามีประชาชนเข้าไปจองตั๋วช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือขาไป ในช่วงวันที่ 28-31 ธันวาคม 2566 ขากลับ 1-2 มกราคม 2567 ครบทั้ง 4,000 ที่นั่ง หรือขบวนละ 500 ที่นั่ง ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกับขบวนรถปกติ
ส่วนจะเปิดให้จองก่อนวันเดินทางล่วงหน้า 30 วัน ซึ่งในช่วงปกติมียอดการเดินทางอยู่แล้ว 80,000 คนต่อวัน แต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่คาดว่าผู้โดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติ 20% แต่หากพบว่ามีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลทางการรถไฟฯ จะมีการเพิ่มขบวนรถเสริมต่อไป
“รฟท. มีการประกาศขยายระยะเวลาในการจองตั๋วใน 8 ขบวนดังกล่าว ส่วนหนึ่งต้องการรู้ถึงความต้องการของประชาชนในการเดินทาง และช่วยให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่ต้องการเดินทางได้มีเวลาในการเตรียมตัว และวางแผนการเที่ยวได้ครอบคลุมมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องมาลุ้นในวันใกล้ๆ ว่าจะมีตั๋วเดินทางหรือไม่ และหากมีการจองในวันที่ต้องการเดินทางเต็มไปแล้ว จะได้หาการขนส่งอื่นๆ เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายได้ต่อไป ซึ่งเร็วๆ นี้ มีนโยบายให้การรถไฟฯ ขยายวันจองตั๋วล่วงหน้าเป็น 6 เดือน ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับที่หลายประเทศใช้รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสในการวางแผนเดินทางล่วงหน้าอีกด้วย”
นอกจากนี้ในกรณีที่มีการปรับตารางเวลาเดินรถไฟสายใต้ทั้งในส่วนของการรองรับผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า อีกทั้งจะมีการขยายเส้นทางขบวนรถธรรมดาที่ 261/262 จากเดิมกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-หัวหิน-กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ขยายเป็น กรุงเทพฯ (หัวลำโพง)-สวนสนประดิพัทธ์-กรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป ส่งผลให้บางขบวนจะมาถึงสถานีปลายทางเร็วกว่าปกติ หรือถึงประมาณ 03.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่รถโดยสารสาธารณะยังไม่เปิดให้บริการ นั้น เรื่องนี้เตรียมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยเบื้องต้นได้สั่งการให้เตรียมรถสาธารณะ อาทิ รถเมล์ และแท็กซี่ ไว้คอยให้บริการแล้ว ไม่ต้องเป็นกังวล