นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า ที่ผ่านมาจากข้อเท็จจริงในการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น และ ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน เนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดย ทล. ต้องจ่ายค่าซ่อมถนน วงเงิน 26,000 ล้านบาทต่อปี และ ทช. วงเงิน 18,000 ล้านบาทต่อปี
“แนวทางแก้ไขปัญหาที่นำมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต เน้นย้ำว่าช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด มั่นใจว่าจะไม่มีผู้ประกอบการรายใด ที่จะกล้ากระทำความผิด เพราะไม่คุ้มที่จะเสียเงินจำนวนมาก”
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง 2535 ปัจจุบันพบว่ามาตรา 73/2 เกี่ยวกับบทลงโทษการบรรทุกน้ำหนักเกิน ระบุว่า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น คือ ปรับสูงสุดในลักษาณะขั้นบันไดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด
ส่วนกรณีการเพิ่มโทษจำคุกนั้นให้ เบื้องต้นมอบหมายให้ ทล.ศึกษาผลดีและผลเสียที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี
“เชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษปรับที่สูงขึ้นนี้ จะทำให้แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะปัจจุบันรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษปรับน้อยสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการถบรรทุกเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้”
ทั้งนี้จะมีการออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคมในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจรในพื้นที่ กทม. ให้มีอำนาจตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ กทม. ได้ จากเดิมตำรวจจราจรไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจจับ เพราะ พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเสนอเรื่องนี้มาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตนลงนามในประกาศกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ต่อไป
2.เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจ, ทล.
3.การนำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงาน เช่น การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบจีพีเอส ของ ขบ. ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. ช่วยติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินและบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน
นอกจากนี้ทางภาคเอกชนเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. เพื่อนำปัญหามาหารือกันเป็นระยะๆ และหาแนวทางป้องกันไม่เกิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. มีโครงข่ายถนนที่รับผิดชอบกว่า 50,000 กม. เพื่อป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ หรือ WIM ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งระบบ WIM บนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 960 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง ซึ่งเหลืออีก 757 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครบต่อไป
“ในแต่ละปีกรมฯได้รับงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว โดยมุ่งเน้นติดตั้งในจุดที่จำเป็นและมีปริมาณรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมากก่อน”