นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัลสุขภาพ ของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการพัฒนาเข้าสู่การเป็นระบบสุขภาพดิจิทัลเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีโครงสร้างแยกออกมาอย่างชัดเจน ขณะที่แนวโน้มด้านเทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์กำลังขยายตัว ประกอบกับนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่จึงจำเป็นต้องมีระบบดิจิทัลมารองรับการทำงานให้ครอบคลุมมากขึ้น
ทั้งนี้ จากการประชุมกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาเห็นควรให้จัดตั้งกลุ่มภารกิจ/กลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์และสุขภาพของโรงพยาบาล ทั้งโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ./รพท.) โรงพยาบาลชุมชน(รพช.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) และสำนักงานเขตสุขภาพขึ้น โดยมอบหมายให้กองบริหารทรัพยากรบุคคล และสำนักสุขภาพดิจิทัล ของสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ดูแลเรื่องนี้
นายแพทย์โอภาส ปลัดสธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ช่วงโควิด19 ได้ใช้ระบบสุขภาพดิจิทัลมาตลอดซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างอดีต เราคิดว่าการใช้เทเลเมดิซีนจะเหมาะสมกับการให้บริการประชาชนพื้นที่ห่างไกลแต่จากโควิดทำให้ทราบว่า คนในเขตเมืองก็หันมาใช้เทคโนโลยีกันมากเพราะมีความสะดวก
ยกตัวอย่างเช่น การรับยาใกล้บ้าน ส่วนข้อมูลก็จะผ่านระบบดิจิทัลทั้งหมด ที่สำคัญการใช้เทคโนโลยีมาช่วยยังทำให้บุคลากรสะดวกมากขึ้น หมออยู่ที่ไหนก็ได้สามารถติดต่อสื่อสารคนไข้ได้ตลอดได้ทุกที่
สำหรับการเตรียมความพร้อมด้านระบบดิจิทัลสุขภาพในครั้งนี้ เพื่อรอบรับการให้บริการ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ทุกเครือข่าย ทั้งรัฐและเอกชน โดยเบื้องต้นพร้อมนำร่องใน 4 จังหวัด ซึ่งประกอบด้วย แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ในเดือนมกราคม 2567
จากนั้นตามแผนกระทรวงสาธารณสุขจะขยายเฟสที่สองต่อในเดือนมีนาคมใน 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ นครราชสีมา สระแก้ว และพังงา