เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 แหล่งข่าวผู้นำระดับสูงของ กองกำลังกะเหรี่ยงคะยา KA เปิดเผยว่า จากปฏิบัติการ 1111 ที่ผ่านมา กองกำลังผสมกะเหรี่ยงคะยา ซึ่งประกอบด้วย KA , KNDF , PDF และ KNPLF สามารถควบคุมพื้นที่ในรัฐคะยาไว้ได้ประมาณ 80 % ของพื้นที่ทั้งหมด ปัจจุบันมีทหารเมียนมาประจำการตามฐานที่มั่น ติดแนวชายแดนไทยที่รายล้อม กองบัญชาการกองทัพกะเหรี่ยงคะยา/คาเรนนี ฐานดอยยามู ซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกของตัวเมืองแม่ฮ่องสอน จำนวน 5 กองพัน ซึ่งได้ถูกปิดล้อมและตัดเส้นทางทางบกไว้ทุกด้านและไม่เป็นภัยต่อกองทัพกะเหรี่ยงคะยาแต่อย่างใด
ส่วนทหารเมียนมาในเมืองต่าง ๆ ได้ถูกโจมตีและยึดฐานที่มั่นไว้ได้เกือบหมด เหลือเฉพาะทหารเมียนมา ที่เมืองลอยก่อว์ เมืองหลวงของรัฐคะยา ที่ยังคงต่อสู้กับกองกำลังผสมกะเหรี่ยงคะยาอย่างเข้มแข็ง ทั้งนี้ทหารเมียนมากลุ่มดังกล่าว ได้อาศัยเรือนจำเมืองลอยก่อว์เป็นฐานที่มั่นและต่อสู้กับกองกำลังผสม
โดยมีการสนับสนุนการโจมตีทางอากาศจากเครื่องบินขับไล่และเฮลิคอปเตอร์ อย่างหนักตลอดวันและกลางคืน ส่งผลให้เกิดไฟไหม้บ้านเรือนราษฎรที่อาศัยอยู่ใกล้กับ เรือนจำดังกล่าวไปกว่า 70 หลังคาเรือน
ล่าสุด ระบบบริหารราชการภายใต้ทางการของเมียนมา ในรัฐคะยา/คาเรนนี ได้ถูกยุบไปแล้ว โดยทางสภาบริหารรัฐคะยา/คาเรนนี ชั่วคราว (Interim Executive Council of Karenni State-IEC) ได้เข้ามาบริหารจัดการและเตรียมวางระบบการบริหารจัดการเอง
ทั้งนี้รัฐคายา/คะเรนนี เป็นรัฐที่ประกอบด้วยเมืองจำนวน 7 เมือง และแม้จะเป็นรัฐที่เล็กที่สุดในประเทศเมียนมา และมีความยากจนที่สุดก็ตาม แต่กองกำลังทหารของกะเหรี่ยงคะยา ก็ได้ชื่อว่าเป็นฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมาที่เข้มแข็งที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน
รัฐคะยา/คะเรนนี มีประชากรประมาณ 300,000 คน และเป็นรัฐที่ติดกับกรุงเนปีดอว์ เมืองหลวงของประเทศเมียนมา ซึ่งเป็นที่ตั้งสำคัญของกองทัพเมียนมา การเติบโตที่รวดเร็วของฝ่ายต่อต้าน เช่น กองทัพ KNDF ที่ก่อตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร กำลังกลายเป็นปัญหาระดับใหญ่ให้กับนายทหารระดับสูงในกรุงเนปีดอว์ ที่พยายามวางแผนกำจัดกองกำลังเหล่านั้นแต่ประสบกับความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
สำหรับกองกำลัง KNDF ก่อตั้งขึ้นมาจากประชาชนที่ออกมาประท้วงอย่างสันติ แต่ถูกกองทัพพม่าปราบปรามอย่างเหี้ยมโหด จนในที่สุด คณะกรรมการประท้วงได้มีมติตัดสินใจที่จะจับปืนต่อสู้กับกองทัพเมียนมา และการปฏิเสธการปกครองโดยกองทัพเมียนมา
และสร้างการบริหารที่เป็นตัวแทนของชาวคะเรนนี การบรรลุเป้าหมายทางการเมืองด้วยวิธีการทางทหารถือเป็นความท้าทายที่ยากลำบาก แต่ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการด้วยอาวุธ นอกจากนี้ทางกลุ่มจะทำงานร่วมกับรัฐบาลพลัดถิ่นอย่าง NUG ต่อไป
แม้จะก่อตั้งขึ้นมาเพียง 2 ปี แต่ขณะนี้กองทัพ KNDF นั้นมีกำลังพลมากกว่า 7,000 คน และเป็นกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในรัฐคะยา/คะเรนนี โดยได้รับการฝึกฝนจากกองทัพต่างๆอย่าง เช่น กองทัพคะเรนนี Karenni Army (KA), สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และแม้แต่ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์จากกองกำลังโกก้าง MNDAA และกองกำลังปะหล่อง TNLAเป็นต้น
ล่าสุด ทางด้านกลุ่มสภาที่ปรึกษาแห่งรัฐคะยา/คะเรนนี Karenni State Consultative Council (KSCC) ได้เรียกร้องให้สื่อมวลชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ใช้คำเรียกรัฐคะเรนนี (Karenni State) แทนคำว่า รัฐกะยา (Kayah State) เนื่องจากเป็นชื่อเดิมในประวัติศาสตร์ก่อนได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ และรัฐคะเรนนีเป็นรัฐที่เคยเป็นเอกราช มีการปกครองเอง นอกจากนี้ยังให้เหตุผลว่า คำว่ารัฐคะยานั้น ไม่ได้เป็นตัวแทนหรือความปรารถนาของกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในรัฐคะเรนนี