เตือนไว้ “วันหยุดยาวมาฆบูชา” 24-26 ก.พ. ดื่มเหล้าในปั๊ม คุก 6 เดือนนะ

18 ก.พ. 2567 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 08:05 น.

วันหยุดยาวมาฆบูชา 24-26 ก.พ.นี้ หลายคนเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่รู้ดีว่า 24 ชั่วโมงของวันมาฆบูชานั้น ห้ามซื้อ-ขายเหล้าเบียร์อยู่แล้ว แต่ถ้าอยู่ระหว่างเดินทางช่วงวันหยุดยาว หากแวะตั้งวงดื่มในปั๊มน้ำมัน แม้ซื้อมาจากที่อื่น ก็มีความผิดเช่นกัน

 

วันพระใหญ่มาฆบูชา 2567” ใกล้เข้ามา ชาวพุทธตั้งใจเข้าวัด ทำบุญ เวียนเทียนกัน และหลายคนก็เตรียมตัวเดินทางออกต่างจังหวัดหรือท่องเที่ยว เพราะปีนี้ได้ วันหยุดยาว 3 วัน เสาร์ที่ 24 ถึงจันทร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ บรรยากาศการเดินทางท่องเที่ยว หาความสำราญใจในวันหยุดพักผ่อน อาจทำให้บางคนลืมไปว่ามีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อ-ขาย-ดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา และกฎหมายเกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มระหว่างเดินทาง หรือในสถานที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเช่นกัน มาดูกันว่ามีอะไรบ้างที่พึงระวัง

ในวันมาฆบูชา

วันมาฆบูชา ถือเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในอาคารท่าอากาศยานนานาชาติ หากฝ่าฝืนมีความผิดตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 คือระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

โดยปกติ ทางตำรวจจะทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ประกอบการร้านค้าทุกประเภท ทั้งร้านค้าในชุมชน ร้านสะดวกซื้อ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสถานบริการและสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ให้งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งชนิดขายส่งและขายปลีก ทั่วราชอาณาจักร ตลอด 24 ชั่วโมง คือหลังเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 23 ก.พ. 2567 ไปจนถึงเวลา 24.00 น. ของคืนวันที่ 24 ก.พ. 2567 (วันมาฆบูชาปีนี้ ตรงกับวันเสาร์ที่ 24 ก.พ.) พร้อมทั้งจัดสายตรวจ ออกตรวจตราสถานที่ที่อาจมีการฝ่าฝืนกฎหมาย ได้แก่ ร้านข้าวต้มโต้รุ่ง คาราโอเกะ ร้านอาหารตามสั่งในชุมชน ริมทาง บริเวณสถานีขนส่ง สถานีรถไฟ และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น หากตรวจพบผู้ที่ฝ่าฝืนให้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

 

แม้นำมาจากบ้านหรือซื้อมาจากที่อื่น ก็นำไปตั้งวงดื่มในปั๊มน้ำมันไม่ได้นะ มีโทษถึงจำคุก ปรับเงิน หรือทั้งจำทั้งปรับ

ในช่วงเดินทาง-พักผ่อนวันหยุด

คราวนี้ มาดูช่วงวันหยุดยาวในบรรยากาศการท่องเที่ยวบ้าง ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 นั้น มีหลายมาตราที่เกี่ยวข้อง พึงระมัดระวัง หากพลั้งเผลออาจเข้าข่ายละเมิดฝ่าฝืน มีโทษถึงจำคุก โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตาม “สถานีบริการน้ำมัน” หรือตาม “สวนสาธารณะ” แม้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาจากที่อื่น ก็นำมาดื่มในบริเวณดังกล่าวนี้ไม่ได้ ถือว่ามีความผิด

เรามาดูรายละเอียดกันว่า สถานที่ใดบ้างที่ห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปดื่ม

มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณ ดังต่อไปนี้

  1.  วัดหรือสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม ทางศาสนา (ศาสนาคริสต์มีการดื่มสุราในพิธีกรรม)
  2. สถานบริการสาธารณะสุขของรัฐ สถานพยาบาลและร้านขายยา ยกเว้นบริเวณที่ จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล
  3. สถานที่ราชการ ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคล หรือสโมสรหรือการจัด เลี้ยงตาม ประเพณี
  4. สถานศึกษา ยกเว้นบริเวณที่จัดไว้เป็นที่พักส่วนบุคคลหรือสโมสร หรือการจัด เลี้ยงตามประเพณี หรือสถานการศึกษาที่สอนการผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  5. สถานีบริการเชื้อเพลิง (ปั๊มน้ำมัน) หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการเชื้อเพลิง
  6. สวนสาธารณะของทางราชการ
  7. สถานที่อื่นที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ เช่น
  • ในบริเวณสถานีรถไฟ หรือในขบวนรถที่อยู่บนทางรถไฟ
  •  ในพื้นที่ที่อยู่ในกำกับดูแล และใช้ประโยชน์ของราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
  • ในท่าเรือหรือโดยสารสาธารณะ
  • บนทางตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
  • ในสถานีขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก

ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

นักดื่มหลายคนอาจเข้าใจผิดว่า สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากที่อื่นๆ มาดื่มในบริเวณปั๊มน้ำมันได้เพราะหลายแห่งก็จัดสวนหย่อมมีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งพักผ่อนเอาไว้ให้อย่างสวยงามและสะดวกสบาย แต่ถ้าทำเช่นนั้น ก็จะเป็นการผิดกฎหมาย โดยในส่วนของปั๊มน้ำมันเอง หากมีร้านค้าภายในปั๊มจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชน ก็จะผิดตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในมาตรา 27 (6) ที่ห้ามขายเหล้าในสถานีบริการน้ำมัน ส่วนประชาชนหากน้ำเหล้าเบียร์เข้าไปดื่มในบริเวณปั๊มน้ำมัน ก็จะผิดมาตรา 31 (5) ดังกล่าวไว้ข้างต้น

ทั้งสองกรณี มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ปั๊มน้ำมัน หรือสถานีบริการน้ำมัน ที่เป็นที่ตั้งของร้านค้าเองก็อาจถูกกระทรวงมหาดไทยเพิกถอนใบอนุญาตสถานประกอบการน้ำมันได้ด้วย    

ข้อมูลอ้างอิง สำนักงานกิจการยุติธรรม