จังหวัดสระบุรีจับมือ"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

22 ก.พ. 2567 | 10:35 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.พ. 2567 | 10:51 น.

จังหวัดสระบุรี ร่วมกับ ซีพี-เมจิ ผนึกกำลังสถานประกอบการซีพีเอฟ ในพื้นที่ จัดกิจกรรมเนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า มอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่า พร้อมปลูกต้นเข็มป่าเป็นแนวกันไฟยาว 200 เมตร ภายในสวนพฤกษศาสตร์พุแค

นายวิชัย บุญมี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี เป็นประธานในพิธีจัดกิจกรรมเนื่องในวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ตรงกับวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของทุกปี ภายใต้โครงการ "ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ" ซึ่งดำเนินงานต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 พร้อมทั้งรับมอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่า เพื่อใช้ในการป้องกันและดับไฟป่าใน จ.สระบุรี รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง 

                            จังหวัดสระบุรีจับมือ\"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ\"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

โดยมี นายปริญญา คุ้มสระพรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.สระบุรี นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กรรมการผู้จัดการ ซีพี-เมจิ พนักงานจิตอาสาจากซีพี-เมจิ และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ พื้นที่ จ.สระบุรี สมาชิกชุมชนต่างๆ คณะครูและนักเรียนจาก 4 อำเภอ รอบผืนป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกเจ็ดสาวน้อย อุทยานแห่งชาติน้ำตกสามหลั่น สวนพฤกษศาสตร์พุแค เขตห้ามล่าสัตว์ป่าแก่งคอย รวมทั้งหมดมากกว่า 100 คน ร่วมด้วย

นายวิชัย บุญมี กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนป่าไม้ทั่วโลกลดลงอย่างรวดเร็วจากการใช้ประโยชน์เพื่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ และเหตุจากภัยธรรมชาติ จ.สระบุรี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องของไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศไปจนถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน 

                       จังหวัดสระบุรีจับมือ\"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ\"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

การจัดกิจกรรมวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า ถือเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยบรรเทาปัญหาในพื้นที่ และทำให้เกิดการผนึกกำลังของทุกภาคส่วน สำหรับ ซีพี-เมจิ เป็นภาคเอกชนที่เข้มแข็ง โดยให้ความสำคัญต่อการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี จึงเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันสระบุรีสู่เมืองคาร์บอนต่ำแห่งแรกของประเทศ 

นายปริญญา คุ้มสระพรม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 จ.สระบุรี มีรายงานการลงพื้นที่ดับไฟป่าของเจ้าหน้าที่ 4 ครั้ง เกิดจากธรรมชาติและการลุกลามจากการเผา ทำให้เกิดความเสียหายในระดับพื้นที่แล้วประมาณ 85 ไร่ ส่งผลกระทบต่อสัตว์ป่าและระบบนิเวศ ตลอดจนสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชน 

                          จังหวัดสระบุรีจับมือ\"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ\"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

ครั้งนี้จึงมีการออกแบบการทำงานเชิงรุกในพื้นที่ตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะร่วมจัดการดูแลกับภาคเอกชน อย่าง ซีพี-เมจิ ที่เป็นพันธมิตรในการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงคุณค่าของป่าไม้ไทย

ด้าน นางสาวสลิลรัตน์ พงษ์พานิช กล่าวว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความยั่งยืนตามเจตนารมย์ขององค์กรในการ ‘เพิ่มคุณค่าชีวิต’ 3 ด้าน ได้แก่ สุขภาพ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยการดูแลและเพิ่มคุณค่าด้านสิ่งแวดล้อม มีกรอบความร่วมมือกับกรมอุทยานฯ และจังหวัดสระบุรี ในการปลูกต้นไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน 

                         จังหวัดสระบุรีจับมือ\"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ\"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

ขับเคลื่อนโครงการ "ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ" สานต่อกิจกรรมมอบอุปกรณ์ป้องกันและดับไฟป่า ซึ่งเป็นภัยพิบัติตามฤดูกาลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนส่งความช่วยเหลือ และสร้างการตระหนักรู้เรื่องของภัยพิบัติตามธรรมชาติให้กับชุมชนต่างๆ เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวังและร่วมกันรักษาป่าต้นน้ำที่สำคัญใน จ.สระบุรี อีกด้วย

สำหรับวันรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่า จังหวัดสระบุรี ปีนี้มีการจัดกิจกรรมหลากหลาย อาทิ มอบอุปกรณ์ดับไฟป่าจำนวน 12 รายการ ปลูกต้นเข็มป่าจำนวน 1,600 ต้น เป็นแนวกันไฟยาว 200 เมตร ในสวนพฤกษศาสตร์พุแค นิทรรศการความรู้และสาธิตการใช้เครื่องมือดับไฟป่า เดินและปล่อยขบวนรถรณรงค์ให้ปลอดควันพิษจากไฟป่าในทุกอำเภอ และจัดประกวดวาดภาพของนักเรียน 

ทั้งนี้ยังมอบผลิตภัณฑ์นมคุณภาพ แบรนด์ ซีพี-เมจิ และอาหารพร้อมรับประทานจากซีพีเอฟ อาทิ ไส้กรอก ไก่ปรุงสุก เป็นต้น เพื่อเสริมพลังกายเติมกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครที่มาร่วมงาน

                           จังหวัดสระบุรีจับมือ\"ซีพี-เมจิ-ซีพีเอฟ\"รณรงค์ปลอดควันพิษจากไฟป่า

ซีพี-เมจิ ดำเนิน “โครงการ ซีพี-เมจิ รักษ์ป่า รักษ์น้ำ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 โดยร่วมกับกรมอุทยานฯ และหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ จ.สระบุรี รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง สนับสนุนการปลูกต้นไม้ไปแล้วมากกว่า 52,000 ต้น บนพื้นที่รวม 260 ไร่

และมีแผนที่จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวเป็น 1,000 ไร่ ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย Net-Zero ของประเทศไทย ในปี 2593