สตรีทอาร์ท ลอยกระทง พายเรือคายัค ถนนคนเดิน ช้อปปิ้ง กินของอร่อย ฟังเพลงเพราะ เกิดขึ้นทุกวันหยุดสุดสัปดาห์ เป็นภาพความทรงจำต่อ "คลองโอ่งอ่าง" ของหลายคนรวมทั้งชาวต่างชาติ ก่อนที่ทุกอย่างจะหยุดลงจากสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวเดินทางมาน้อยลง ผู้ค้าก็เริ่มหายไป เพราะงดจัดกิจกรรม การบริหารจัดการของประชาคมในพื้นที่ก็สะดุด
คลองโอ่งอ่าง เคยเป็นสถานที่ที่ได้รับความนิยม จนกลายเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ แต่วันนี้หลายคนตั้งคำถามว่า ที่นี่กำลังจะถูกลืมไปหรือไม่ จากข้อวิจารณ์ว่า กทม. ปล่อยให้ "คลองโอ่งอ่าง" หมดคุณค่า
บรรยากาศเงียบเหงา ไม่มีชีวิตชีวา ร้านค้าปิดเงียบ ก่อนจะเปรียบเทียบการบริหารของผู้ว่าฯ กทม. ยุคก่อนที่เคยพัฒนาคลองโอ่งอ่างเป็นถนนคนเดินที่สวยงาม แต่ปัจจุบัน กลับถูกปล่อยร้าง แม้แต่ไฟประดับก็ไม่เปิด มีการแชร์ภาพรถที่ถูกนำไปจอดเต็มริมฝั่งคลอง มีคนเร่ร่อนมาอาศัย
ทีมข่าวฐานเศรษฐกิจเข้าตรวจสอบ จากการพูดคุยกับเหล่าผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบ หลายคนยอมรับว่าที่ผ่านมาการค้าซบเซา ไม่คึกคัก ไร้กิจกรรมต่อเนื่อง ย่านเศรษฐกิจแห่งนี้กำลังจะตาย ถ้าไม่ได้รับการฟื้นฟู
"เมื่อก่อนถนนคนเดินเปิด ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกว่า 90 % ที่มาเที่ยว พอเกิดโควิดก็ปิด ช่วงที่โควิดคลี่คลาย ก็ไม่ได้มีการจัดถนนคนเดิน ทางร้านอยู่เเบบนี้ขายได้บ้างไม่ได้บ้าง ร้านก็ปรับตัวเพิ่มรายได้จากการขยายกิจการในพื้นที่เพื่อจะกระตุ้นให้มีนักท่องเที่ยวมา ซึ่งก็มีมาบ้างมาถ่ายรูป เเต่ไม่มีร้านค้าในซื้อของ ตอนนี้ปล่อยให้ขายฟรียังไม่มีใครมา เราก็ต้องสู้ต่อไปเเละรอ ผู้ว่าฯ เเละสำนักงานเขตจัดให้มีถนนคนเดิน "
ทีมข่าวลงพื้นที่ในวันที่มีเจ้าหน้าที่เขตพระนครและเขตสัมพันธวงศ์เข้ามาตรวจสอบพื้นที่ โดยได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตสัมพันธ์วงศ์ ก็ยืนยันว่า ไม่ได้ทิ้งคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพมหานครมีแผนฟื้นฟู พัฒนาพื้นที่ สำหรับปัญหาคนเร่ร่อน นอนทางเดิน เจ้าหน้าที่มีการเพิ่มความถี่และกำชับตรวจตราไม่ให้มีการหลับนอนในที่สาธารณะพร้อมจัดระเบียบอย่างต่อเนื่อง
แม้ว่าสภาพคลองโอ่งอ่างวันนี้ ยังไม่ถึงขั้นทรุดโทรมอย่างหนัก ต้นไม้ยังได้รับการดูแล ผลงานสตรีทอาร์ตก็ยังมีสภาพดีไว้ให้แวะไปถ่ายรูปเช็กอิน น้ำในคลองตามที่มีข้อสังเกตพบว่า มีขยะลอย น้ำเริ่มเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็นมีการเข้ามาปรับปรุงเพื่อนำน้ำเสียเข้าสู่ระบบบำบัด แต่บรรยากาศโดยรวม ถือว่าเงียบเหงา ขาดความคึกคัก รอคอยการพลิกฟื้นให้กับมามีชีวิตอีกครั้ง
สำหรับแผนการบรูณาการจัดการพื้นที่ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมฟื้นฟูการท่องเที่ยวคลองโอ่งอ่าง ได้ถูกวางไว้ 3 ระยะ
ระยะสั้น 2 เดือน เริ่มเปิดตัวดึงอัตลักษณ์ของสะพานเหล็กในการจัดเทศกาลและกิจกรรม ในช่วงก่อนเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
ระยะกลาง 4 เดือน ประเมินและปรับรูปแบบกิจกรรม พร้อมประชุมร่วมกับแกนนำและผู้ค้าถึงแนวทางการต่อยอดถนนคนเดินให้ยั่งยืน เช่น การทดลองจัดกิจกรรมสั้นๆ ช่วงสุดสัปดาห์ โดยให้แกนนำขับเคลื่อนทั้งหมด และสำนักงานเขตเป็นที่ปรึกษา
ระยะยาว 6-8 เดือน ทดลองเปิดโอกาสให้แกนนำบริหารจัดการด้วยตนเอง เมื่อครบ 8 เดือน จะประเมินครั้งสุดท้าย ก่อนถอดบทเรียน และขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป