จากกรณีที่การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ออกประกาศ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 กำหนดแผนจ่ายน้ำ 3 วันต่อสัปดาห์ (ในบางพื้นที่) และ 4 วันต่อสัปดาห์ (ในบางพื้นที่) ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่ โดย ชี้แจงเหตุผลว่า เกิดภัยแล้ง จนทำให้น้ำดิบเหลือ ในการผลิตน้ำประปา เพียง 2 เดือน
ก่อนที่วันนี้ (31 มี.ค. 67) จะมีการออกประกาศใหม่ว่าจะมีการจ่ายน้ำเป็นปกติแล้ว เนื่องจากมีน้ำฝนจากทั้งฝนหลวง และฝนธรรมชาติมาเติม ทำให้มีปริมาณน้ำมากพอที่จะจ่ายน้ำได้ตามปกติ จึงไม่ต้องสลับแบ่งจ่ายน้ำในวันที่ 1 เมษายนแล้วนั้น
นายธนวัช ภูเก้าล้วน ตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจ จ.กระบี่ สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ตนทำธุรกิจบ้านจัดสรรใน จ.กระบี่ มา 22 ปี ได้ประสานงานกับการประปาอย่างใกล้ชิด เข้าใจถึงกำลังการผลิตน้ำประปาใน จ.กระบี่ ที่สามารถให้บริการประชาชนได้ประมาณเพียง 30% เท่านั้น
โดยเฉพาะพื้นที่สูงบางพื้นที่ ก็ไม่สามารถจ่ายน้ำไปถึงได้ จึงมีความจำเป็นต้องบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำกระบี่ใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ตน และ นายสาคร เกี่ยวข้อง อดีต ส.ส. กระบี่ ได้ผลักดันโครงการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำกระบี่ใหญ่อย่างเป็นระบบ มีเป้าหมายของโครงการนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในอนาคต จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งต้องเร่งผลักดันโครงการนี้ให้สำเร็จโดยเร็ว
นายธนวัช กล่าวว่า แนวคิดที่จะศึกษาอ่างเก็บน้ำมีทั้งหมด 4 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ใหญ่ อ่างเก็บน้ำบ้านห้วยโต้ อ่างเก็บน้ำคลองไทรม้า และ อ่างเก็บน้ำห้วยใหญ่ และ ขุดลอกคลองกระใหญ่
รวมถึงทำคลองบายพาสเพื่อรองรับในช่วงน้ำหลาก ไม่ให้ไหลมากระทบกับเขตเมืองกระบี่ ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกระบี่ ถือเป็นจิ๊กซอร์ชิ้นสุดท้าย ที่จะสามารถจัดการบริหารน้ำในเขต อ.เมือง และ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ได้ ทั้งระบบ ทั้งน้ำดิบ น้ำเพื่อการเกษตร น้ำเพื่อการท่องเที่ยว ที่จะมีใช้อย่างเพียงพอ และแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณการก่อสร้าง 700 ล้านบาท
“แม้ในขณะนี้วิกฤตน้ำในจังหวัดกระบี่ จะคลี่คลายลงจากปริมาณน้ำฝนเข้ามาเติมน้ำดิบ แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าดีใจ เพราะกลายเป็นว่า หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึง อบจ.เองที่มีหน้าที่ทั้งงบประมาณ อำนาจหน้าที่ในเรื่องน้ำเพื่ออุปโภค และ บริโภค รวมถึงการเกษตร แก้ปัญหาได้เพียงแค่รอฟ้า รอฝน ขาดการวางแผนอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ไม่เตรียมแผนรับมือล่วงหน้า
ทั้ง ๆ ที่ ปัญหาภัยแล้ง ผลกระทบจากเอลนิโญ ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแบบกะทันหัน เป็นปรากฏการณ์ที่รับทราบเป็นวงกว้าง แต่เรากลับรอจนปัญหาเกิดแล้วมาแก้ที่ปลายเหตุ กระทบเป็นวงกว้าง
อย่าลืมว่าจังหวัดกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก หากไม่แก้ไขปัญหานี้โดยด่วน และป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำอีก เกรงจะกระทบการท่องเที่ยวในอนาคต และส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่ในภาพรวมด้วย” นายธนวัช กล่าวทิ้งท้าย