วันจักรี 2567 เป็นอีกหนึ่งวันหยุดของประชาชนชาวไทยซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปีซึ่งหลายคนอาจลืมไปแล้วว่า วันจักรี วันนี้มีความสำคัญอย่างไร "ฐานเศรษฐกิจ" พาไปทบทวนประวัติและความสำคัญของวันสำคัญวันนี้กันอีกครั้ง
ความหมายของวันจักรี
วันจักรี (Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่ระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระองค์ได้เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานครทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ เป็นวันที่เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติและเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีองค์แรกสืบทอดต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และทรงสถาปนา กรุงเทพมหานคร ขึ้นเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยเมื่อครั้นสิ้นรัชกาลในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแล้ว
ต่อมาในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 ตรงกับวันเสาร์ วันแรม 9 ค่ำเดือน 5 ปีขาล จ.ศ.1144 สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีพระองค์แรก
มีพระราชดำริว่า ทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี มีพื้นที่ที่ดีกว่าทางตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากมีข้าศึกยกทัพมาติดถึงฝั่งพระนครก็จะทำให้ทำการต่อสู้และป้องกันได้ง่ายกว่าฝั่งตะวันตก จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นโดยสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยาโดยปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันและเรียกขานกันว่ากรุงเทพมหานคร โดยชื่อเต็มยศของ กรุงเทพมหานครนั้น กินเนสบุ๊คจัดอันดับให้เป็นชื่อเมืองหลวงที่ยาวที่สุดในโลก
ประวัติและความสำคัญของวันจักรี
เมื่อปี พ.ศ.2461 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระเจ้าอยู่หัวทั้ง 4 พระองค์ (รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมารวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ถือเป็นธรรมเนียมปีละ 1 ครั้ง และโปรดเกล้าให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ซึ่งที่ผ่านมานั้นได้มีการย้ายที่ พระบรมรูปหลายครั้ง เช่น พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยปราสาท
กระทั่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.6) ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระบรมรูปทั้ง 4 ( รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 4 ) มาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ 5 พระชนกนาถ ซึ่งรัชกาลที่ 6 โปรดให้ซ่อมจากพุทธปรางค์ปราสาทเพื่อจะได้นำพระบรมรูปมาตั้งได้โดยไม่เกิดความเสียหาย การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง 5 รัชกาล สำเร็จเป็นไปตามคาดหมาย ดังนั้น ในวัดพระแก้วจึงมีพระบรมรูปของทั้ง 5 รัชกาลประดิษฐานอยู่เพื่อให้ประชาชนได้ทำการระลึกและสักการะเป็นธรรมเนียมที่สืบต่อกันมาทุกปี
ต่อมาในเดือนเมษายน พ.ศ.2461 ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ 6 เมษายน และทรงโปรดฯ ให้เรียกวันที่ 6 เมษายนว่า "วันจักรี"
ในปี พ.ศ.2475 มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบรอบ 150 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างอนุสรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น และพระราชทานชื่อว่า "สะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก" หรือ "สะพานพุทธ" ที่หลายคนรู้จัก พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริง 3 เท่าในลักษณะประทับนั่งบนพระที่นั่ง
ผลงานที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับชาวไทยมีมากมาย ปัจจุบันจึงมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของ "พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช" และเมื่อถึงวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ คือ วันที่ 6 เมษายน ของทุกปีจะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าจนปัจจุบัน
กิจกรรมในวันจักรี 2567
ในวันจักรีของทุกปี เป็นวันที่พสกนิกรชาวไทยจะร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ผู้ทรงเป็นพระปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังปฐมบรมราชานุสรณ์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ในการพระราชพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งตรงกับวันที่ 6 เมษายนของทุกปี
ทั้งนี้ ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ-เอกชน ข้าราชการ รวมถึงประชาชน จะเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลาเนื่องในวันจักรี ขณะที่ในส่วนของประชาชนนั้นเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของล้นเกล้ารัชกาลที่ 1 จะมีการประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ พร้อมทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์โดยจิตอาสาจากภาคส่วนต่าง ๆ เป็นต้น