กำลังถูกจับตามองจากหลายฝ่ายสำหรับการตรวจพบกากแคดเมียม ถูกซุกซ่อนไว้โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร และมีการขยายผลการตรวจสอบ ตั้งแต่วันที่ 4 -11 เมษายน 2567 พบมีกากแคดเมียม 12,535 ตัน อยู่ในโกดัง 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด(บจก.) จ. สมุทรสาคร, บจก. ซิน หงส์ เฉิง อินเตอร์ เทค (2008) จ.สมุทรสาคร, โกดังคลองมะเดื่อ จ.สมุทรสาคร, โกดังคลองกิ่ว จ. ชลบุรี และบจก.ล้อโลหะไทย เมททอล เขตบางซื่อ กรุงเทพฯ
“ฐานเศรษฐกิจ” ตรวจสอบ บริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล เพิ่มเติมพบความเชื่อมโยงของรายชื่อกรรมการบริษัท ประกอบด้วย นายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย และนางวรรณา เก่งรุ่งเรืองชัย เป็นรายชื่อกรรมการเดียวกันกับ บจก. เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร ที่มีการตรวจพบกากแคดเมียมไปก่อนหน้านี้
ล่าสุดมีการตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมที่มี กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง เนื่องจากปัญหา “กากแคดเมียม” ถือเป็นเรื่องใหญ่กระทบคนไทยทุกคน
ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) จะร่วมมือกันตรวจสอบว่าการขนย้ายกากแคดเมียมดังกล่าวว่าได้ทำการขออนุญาต และการอนุญาตของเจ้าหน้าที่รัฐถูกต้องหรือไม่ หากพบว่าผู้ประกอบการ หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่รัฐรายใดไม่ปฏิบัติตามระเบียบหรือกฎหมาย จะดำเนินคดีและนำตัวผู้กระทำผิดมารับโทษอย่างเด็ดขาดต่อไป
อย่างไรก็ดีจากข้อมูล กากแคดเมียมที่ตรวจพบใน จ.สมุทรสาคร ถูกย้ายมาจาก จ.ตาก ตั้งแต่ปี 2566-เม.ย.2567 ตามข้อมูลของมูลนิธิบูรณะนิเวศ ที่ได้ติดตามข้อเท็จจริงที่น่าสังเกตน่าจะเกิดจากผลประโยชน์ในการลงทุนบนพื้นที่ฝังกลบโครงการ แล้วมีแผนพัฒนาแต่ติดปัญหาใต้พื้นที่มีของเสียอันตรายปนเปื้อนแคดเมียมจนต้องมีแผนขุดและขนย้ายออกมานี้หรือไม่ โดยส่วนหนึ่งน่าจะเกี่ยวกับผลประโยชน์สอดคล้องกับนโยบายรีไซเคิลกากของเสียนำมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจให้มากที่สุด เพราะกากแคดเมียมแม้มีพิษร้ายแรงแต่สร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาล เพียงแค่หลอม 1 ตันจะมีราคากว่า 1 แสนบาท
ทั้งนี้ตามข้อมูลบริษัทเอกชนระบุได้รับอนุญาตให้มีการขุด และขนย้ายกากแคดเมียมออกมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 และเริ่มขนย้ายในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน ส่วนการขนย้าย เที่ยวสุดท้ายคือวันที่ 8 มกราคม 2567 เท่ากับว่าการขนกากพิษอันตรายดำเนินการมายาวนานกว่า 8 เดือน ก่อนที่จะมีการตรวจพบ
คำถามคือ การขนย้ายกากแร่อันตรายจากจังหวัดตากมาเก็บไว้ที่จังหวัดสมุทรสาคร แล้วกระจายไปยังจุดต่าง ๆ ทั้งชลบุรี และกรุงเทพฯ สามารถทำได้หรือไม่ จะต้องดำเนินคดีเอาผิดผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือใครบ้าง เป็นประเด็นที่ต้องติดตาม
สำหรับแผนการขนย้ายกลับกากแคดเมียมของ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ที่ก่อนหน้านี้ชี้แจงว่าบริษัทเป็นเพียงคู่สัญญากับ บจก.เจ แอนด์ บี เมททอล ตามสัญญาซื้อขายกากแคดเมียม ฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น และบริษัทไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประกอบกิจการของเจ แอนด์ บีฯ แต่ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ถือเป็นผู้ก่อกำเนิด ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว แม้เมื่อมีการนำออกนอกโรงงาน
อย่างไรก็ตามแม้นายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย กรรมการ บจก. เจ แอนด์ บี เมททอล จะระบุว่า กากอุตสาหกรรมที่ตนมีถูกต้องทั้งหมด และได้นำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงกับพนักงานสอบสวน แต่กองบังคับการปราบปรามการกระทำ ความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) ได้แจ้งข้อหานายเจษฎา ได้แก่ ความผิดตาม พ.ร.บ.โรงงาน, ความผิดข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาตเป็นปลายทางของกากแคดเมียม, ข้อหาร่วมกันครอบครองวัตถุอันตราย และข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย
ด้าน พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผู้บังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า นายเจษฎายืนยันว่า การซื้อขายกากแคดเมียมมีการทำสัญญากับ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ซึ่งขายให้ตามนํ้าหนัก กิโลกรัมละ 1.25 บาท โดยในสัญญา เจ แอนด์ บีฯ เป็นผู้ซื้อที่จะรับไปกำจัด ซึ่งตอนแรกจะพยายามส่งออกไปหลอมที่ สปป.ลาว โดยมีคนจีนรอรับซื้อ ซึ่งที่ สปป.ลาวมีบริษัทที่สามารถแยกแคดเมียม ทองแดง และสังกะสีได้
แต่ก่อนที่จะส่งกากแคดเมียมไป สปป.ลาว มี นายจาง ติดต่อเข้ามาซื้อกากแคดเมียม 5,000 ตัน จึงขายให้กิโลกรัม 8.25 บาท ซึ่งนายจางจัดรถมารับไปเก็บไว้ที่จังหวัดชลบุรี และนายจางพยายามขายต่อให้คนอื่น แต่ปิดบังไม่ให้นายเจษฎารู้ว่าจะขายให้ใคร ส่วนกากแคดเมียมล็อตที่จะส่งไป สปป.ลาว ยังอยู่ในระหว่างการเจรจา ไม่มีการตกลงที่แน่ชัด แต่ตำรวจเชื่อว่าการประเมินราคาไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.25 บาท ตามที่ขายให้กับนายจาง
พล.ต.ต.วัชรินทร์ ระบุว่า การที่บริษัทนำกากแร่ไปขายต่อ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในสัญญาซื้อขาย เพราะบริษัทมีใบอนุญาตกำจัดกากแคดเมียม อีกทั้งสัญญาซื้อขายก็ระบุว่ารับซื้อมากำจัด ซึ่งนายเจษฎาก็ยืนยันว่ามีเครื่องมือในการกำจัดกากแร่ แต่การต้องส่งไป สปป.ลาว เพราะเครื่องมืออยู่ระหว่างซ่อมแซมทำให้ยังไม่สามารถใช้กำจัดกากแร่ได้ ดังนั้นตำรวจเชื่อว่า วัตถุประสงค์ในการซื้อกากแร่จาก บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เพราะต้องการซื้อมาขายต่อ มากกว่าจะซื้อมากำจัด
อนึ่ง การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นของ บมจ.เบาด์ แอนด์ บียอนด์ หรือ BEYOND นับตั้งแต่มีข่าว “กากแคดเมียม” ราคาปรับลดลงจากที่ปิดวันที่ 3 เม.ย. 67 อยู่ระดับ 11.50 บาท ล่าสุดปิดซื้อขายเมื่อวันที่ 17 เม.ย.67 อยู่ระดับ 10.00 บาท ปรับลดลง 1.50 บาท หรือลดลงแล้ว -13.04% โดยเฉพาะวันที่ 9 เม.ย.67 ซึ่งเป็นวันที่บริษัทฯ ได้ออกหนังสือแจ้งตลาดหลักทรัพย์ ฯ ว่าเป็นเพียงคู่สัญญากับเจ แอนด์ บีฯราคาปรับลดลง 0.90 บาท หรือร่วง 7.96% (เทียบจากราคา ณ วันที่ 8 เม.ย.67) โดยมีมูลค่าซื้อขายสูงสุดในวันดังกล่าวที่ 13.74 ล้านบาท