อังกฤษจ่อเก็บ "ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า" แก้ปัญหาของเถื่อนทะลัก

23 เม.ย. 2567 | 07:51 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2567 | 07:51 น.

อังกฤษจ่อเก็บ "ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า" แก้ปัญหาของเถื่อนทะลัก เครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าชี้การมีมาตรการที่ชัดเจนแทนการแบนช่วยควบคุมได้ ขณะที่เม็ดเงินภาษีมหาศาลที่จัดเก็บจะถูกนำสร้างประโยชน์ให้น้องประชาชนได้

นายอาสา ศาลิคุปต ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า หรือกลุ่มลาขาดควันยาสูบ (ECST) และเพจบุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2569 เป็นต้นไป รัฐบาลอังกฤษมีแผนจะเริ่มเก็บภาษีใหม่จากบุหรี่ไฟฟ้า และเพิ่มอัตราภาษียาสูบ 

โดยคาดว่าภาษีสรรพสามิตสำหรับบุหรี่ไฟฟ้าจะอยู่ที่ 120 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 5,469 ล้านบาทในปี 2569 ถึง 2570 และเพิ่มขึ้นเป็น 445 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 20,282 ล้านบาท ในปี 2571 ถึง 2572

Deborah Arnott หัวหน้าผู้บริหารของ Action on Smoking and Health หรือ ASH ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่กล่าวว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่ไฟฟ้าเป็นเครื่องมือสำคัญของหน่วยจัดเก็บรายได้ และกองกำลังป้องกันชายแดนในการหยุดยั้งการนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าผิดกฎหมายที่ทะลักเข้าสู่ท้องตลาด 
 

เช่นเดียวกับกรณีของผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่การจัดเก็บภาษีช่วยลดการบริโภคบุหรี่ผิดกฎหมายได้ถึง 80% ในช่วงปี 2543 ถึง 2564 โดยสามารถปรับขึ้นภาษีจากบุหรี่มวนได้ตราบใดที่บุหรี่ไฟฟ้ายังคงมีราคาถูกกว่าบุหรี่มวน เพื่อสนับสนุนให้ผู้สูบบุหรี่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อช่วยเลิกบุหรี่และเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทน ซึ่งถือเป็นวิธีช่วยเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างถูกกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อังกฤษจ่อเก็บ "ภาษีบุหรี่ไฟฟ้า" แก้ปัญหาของเถื่อนทะลัก

นายมาริษ กรัณยวัฒน์ ตัวแทนเครือข่ายฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าของประเทศไทย ว่า การประกาศจัดเก็บภาษีบุหรี่ไฟฟ้าแบบใหม่ของอังกฤษในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าด้วยกฎหมายและมาตรการที่มีความชัดเจนแทนการแบน สามารถช่วยควบคุมการทะลักของบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนได้ ขณะที่เม็ดเงินภาษีมหาศาลที่จัดเก็บได้ก็จะถูกนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ให้แก่พี่น้องประชาชนได้อีก

“นับตั้งแต่มาตรการแบนบุหรี่ไฟฟ้าถูกบังคับใช้เมื่อประมาณสิบปีก่อน บุหรี่ไฟฟ้ากลับไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แต่ไปอยู่ในรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้าเถื่อนที่ทะลักเข้าสู่ประเทศไทยผ่านตลาดใต้ดิน และทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะไม่กี่ปีให้หลังมานี้จากข้อมูลการส่งออกของทางการจีนพบว่ามีการส่งออกมายังไทยมากกว่า 1,500 ล้านบาทในช่วงที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่ามาตรการแบนนั้นไม่สามารถปิดกั้นบุหรี่ไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังทำให้ประเทศต้องสูญเสียโอกาสในการจัดเก็บรายได้ภาษีจำนวนมหาศาล รวมถึงโอกาสที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้พ้นมือเด็กและเยาวชนอีกด้วย”
 

อย่างไรก็ดี แม้การไม่สูบและไม่ใช้ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้านั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดต่อสุขภาพ แต่ความพยายามของรัฐบาลอังกฤษที่ต้องการคงราคาบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกว่าบุหรี่มวน เพื่อสร้างแรงจูงใจด้านการเงินให้ผู้สูบบุหรี่เปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแทนการสูบบุหรี่มวนนั้น เป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับความจริง

และความพยายามที่จะสร้างประโยชน์ด้านสาธารณสุขในภาพรวมให้แก่ประชาชนเพราะสิ่งที่อันตรายน้อยกว่า ก็ควรถูกเก็บภาษีในอัตราที่น้อยกว่า เพื่อให้มีราคาที่ถูกกว่า และจูงใจให้ผู้สูบบุหรี่เลือกใช้มากกว่า