สพฐ. ปักหมุด1,808 จุด ทำ 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ

15 พ.ค. 2567 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :15 พ.ค. 2567 | 04:04 น.

สพฐ. ลุยขับเคลื่อน “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ" หนุนพัฒนา 5 ด้าน เป็นต้นแบบ ดึงดูดนักเรียนเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านได้จริง ยันไม่เคยทอดทิ้งโรงเรียนคุณภาพตำบล-โรงเรียนขนาดเล็ก

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงเรียนคุณภาพ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ" ว่า ตามที่ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอำเภอละอย่างน้อย 1 โรงเรียน นั้น ขณะนี้ สพฐ. ได้คัดเลือกและประกาศรายชื่อโรงเรียน จำนวน 1,808 แห่ง มาเข้าโครงการ “1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ" แล้ว แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา จำนวน 901 โรงเรียน ระดับมัธยมศึกษา จำนวน 907 โรงเรียน และให้โรงเรียนประเมินตนเอง ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบสนับสนุนนักเรียน ด้านผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษา ด้านการบริหารจัดการ ด้านการจัดการเรียนรู้ และด้านผู้เรียน จากนั้นสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็จะลงพื้นที่ประเมินโรงเรียนซ้ำ ว่า ตรงตามที่ประเมินตนเองมาหรือไม่ ซึ่งโรงเรียนกลุ่มนี้จะได้รับการสนับสนุนและพัฒนาเสริมเติมส่วนที่ขาด ทั้ง 5 ด้าน โดยพัฒนาโรงเรียนตามบริบทของตนเอง นักเรียนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีคุณภาพ เป็นโรงเรียนต้นแบบ ทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นโรงเรียนแม่ข่ายสนับสนุนโรงเรียนในเครือข่าย เปิดโอกาสให้นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายมาใช้ทรัพยากรในโรงเรียนแม่ข่ายได้อย่างทั่วถึง และเป็นที่เชื่อมั่น สามารถดึงดูดนักเรียนและผู้ปกครองให้เลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านได้จริง

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

“นโยบาย 1 อำเภอ 1 โรงเรียนคุณภาพ เป็นนโยบายสำคัญที่ สพฐ. ต้องดำเนินการให้เห็นผลเป็นรูปธรรม ต่อยอดมาจากโครงการโรงเรียนคุณภาพประจำตำบล ที่ สพฐ. ได้พัฒนาโรงเรียนในท้องถิ่นระดับตำบลให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน แต่ปัจจุบันโรงเรียนในสังกัด สพฐ. กว่า 14,777 แห่ง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน ประกอบกับอัตราการเกิดของเด็กในแต่ละปีก็ลดลง สวนทางกับจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะต้องมีโรงเรียนส่วนหนึ่งที่ต้องยุบเลิกเพราะไม่มีเด็กเรียน ดังนั้น สพฐ. จึงปรับจุดเน้นโครงการโรงเรียนคุณภาพที่ได้ดำเนินการมา โดยพัฒนาให้ครอบคลุม ทั้ง 5 ด้าน อย่างเข้มแข็ง สร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเป็นการสร้างความเสมอภาคให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ลดภาระนักเรียนไม่ต้องเดินทางไกลไปเรียนโรงเรียนในเมืองที่มีชื่อเสียง ลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง นักเรียนเรียนดีมีความสุข โดยนำโรงเรียนคุณภาพไปอยู่ใกล้บ้านในทุกอำเภอ และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชน สามารถดึงดูดนักเรียนและผู้ปกครองให้เลือกส่งบุตรหลานเข้าเรียนในโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้านได้จริง” เลขาธิการ กพฐ.กล่าว

 

ว่าที่ร้อยตรี ธนุ กล่าวด้วยว่า โรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกมาพัฒนาเป็นโรงเรียนคุณภาพต้นแบบอำเภอจำนวนหนึ่งก็มาจากโครงการ "1 ตำบล 1 โรงเรียนคุณภาพ” ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กอื่นๆ สพฐ. ก็ได้บริหารจัดการควบคู่มาอย่างต่อเนื่อง สพฐ. ไม่เคยทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง เรามีเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา สร้างโอกาสให้นักเรียนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และขณะนี้ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. และ นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. ก็มีแนวคิดในการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัวสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากผลวิจัยของหลายหน่วยงานสอดรับกันว่า การอุดหนุนรายหัวในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ โดยปรับใหม่เป็นการอุดหนุนเงินก้อนให้แก่โรงเรียนขนาดเล็กไปก่อนเป็นเบื้องต้นแล้วค่อยอุดหนุนเงินรายหัวตามไป เพื่อให้โรงเรียนมีเงินเพียงพอที่จะเป็นค่าใช้จ่าย ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งจะทำให้โรงเรียนสามารถบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการจะต้องประสานหารือกับสำนักงบประมาณก่อน หากคุยสำเร็จก็จะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป.